ปลาแพะ Corydoras sp. CW111,CW146 Zebrina Vulcan,Bonita Cory หายไปไหน.
ปลาแพะตัวเล็กๆชนิดนี้ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ เราเรียกกันด้วยรหัส (ไม่) ลับ อย่าง Corydoras "CW111" และชื่อสามัญอย่าง Zebrina Vulcan และ Bonita Cory
คนทั่วๆไปมองดูแล้วอาจจะเฉยๆ คนบ้าปลาอาจจะตื่นเต้นบ้าง แต่ถ้าบอกว่าปลาแพะนี้ มันมีสนนราคาค่าตัวอยู่ห้าหลัก(ปลาป่า) และสี่หลักปลายๆ (ปลาเพาะ) ก็น่าจะเพิ่มความสนใจขึ้นมาได้แน่ๆ
ไม่ว่าจะที่ไหนๆในโลก คุณก็ต้องซื้อมันในราคาราวๆนี้ บวกลบต่างกันนิดหน่อย ทั้งร้านปลาทันสมัยกลางกรุงโตเกียว สิงคโปร์ อังกฤษ เยอรมัน อเมริกา หรือแม้กระทั่งในเมืองไทย
จะมียกเว้นก็แต่ประเทศต้นทางอย่างบราซิลที่คงจะอนุโลมให้มีราคาถูกลงได้บ้าง เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่งและค่าเดินทางอ้อมมายังซีกโลกตะวันออก
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2007 นักมีนวิทยากลุ่มหนึ่งได้เข้าไปสำรวจย่าน Serra do Cachimbo บราซิลใน 'The Pipe Expedition' ซึ่งที่นี่คือส่วนที่ขนานนามกันว่าเป็น 'หลังคา' ของประเทศในแถบลุ่มน้ำแอมะซอน เป็นป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำซิงกูตอนกลางอย่าง Rio Curua และไหลลงสู่ปากแม่น้ำ Teles Pires ซึ่งจัดเป็นบริเวณ 'ตกสำรวจ' และยังไม่มีใครเข้าไปทำการศึกษาสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นมากนัก ซึ่งที่นั่นเองที่พวกเขาสำรวจพบปลาแพะตัวเล็กๆพวกนี้อาศัยอยู่
รูปภาพปลาแพะที่ถ่ายจากการสำรวจครั้งนั้นทำให้นักเลี้ยงปลาหลายคนต่างใฝ่ฝันจะได้ครอบครองปลาแพะชนิดนี้ซักครั้งหนึ่ง ปลาแพะตัวเต็มวัยมีกระโดงสูง ลายสีขาวสลับดำเป็นเอกลักษณ์ แต่ด้วยความเข้าถึงยากของถิ่นอาศัย ทำให้มันกลายเป็นปลาในตำนานที่ยังไม่มีใครควานหาตัวมันมาขายได้เลย (มีเสียงร่ำลือเสียงเล่าอ้างว่าโดนแบนไม่ให้ส่งออกจากทางการบราซิลด้วย)
เก้าปีหลังจากนั้น วันดีคืนดี ปลาแพะ CW111 ตัวแรกก็ถูกจับส่งออกมาขายเป็นปลาสวยงามพร้อมๆกัน ทั้งในญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการและเป็นข่าวใหญ่ (มาก) ซึ่งในล็อตต่อๆมา มีปลาแพะ(ที่คาดว่าเป็น)อีกชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันอย่าง CW146 ปนมาด้วย
ล่าสุดเมื่อสองสามปีก่อน นักเลี้ยงปลาได้ระดมทุนให้ Dr. Luiz Fernando Caserta Tencatt เข้าไปจับตัวอย่างปลาแพะกลุ่มนี้ในบริเวณที่อ้างว่าเป็นแหล่งกำเนิดอย่าง Rio Curua ปรากฏว่าเค้าเจอแต่ปลาแพะ CW146 กับปลาแพะชนิดใหม่อีกหลายชนิด แต่ไม่มีปลาแพะ CW111
อ้าว แล้วมันหายไปไหน?
ไม่รู้... ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ แต่ดร. หลุยส์บอกว่า เมื่อเทียบกับตัวอย่างที่จับมาจากการสำรวจครั้งแรกนั้น เค้าพบว่า ปลาแพะ CW111 กับ CW146 น่าจะเป็นชนิดเดียวกัน ที่มีความผันแปรของพันธุกรรม ซึ่งก็ยังต้องใช้เวลาศึกษาต่อ เพราะงั้นทุกวันนี้พวกมันก็เลยยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ซักที
ถึงจะเจอหน้ากันมาเป็นสิบปีแล้วก็เถอะ
Fish available at Siam Amazon: Bangkok, Thailand