เพลี้ยหอยเกราะอ่อนลำไย ชื่อวิทยาศาสตร์ แมลงศัตรูพืช ลำไย, ลิ้นจี่ ฝรั่ง ยี่หร่า
เพลี้ยหอยเกราะอ่อน คืออะไร
เพลี้ยหอยเกราะอ่อน สกุล Pulvinaria เป็นแมลงปากดูด ที่ทำความเสียหายให้กับพืชได้หลายชนิด ทั้ง พืชสวนและพืชไร่ โดยดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายมีลักษณะผิดปกติ และเพลี้ยหอยเกราะอ่อนจะขับถ่ายของเหลว มีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ เรียกว่า มูลน้ำหวาน (honeydew) ซึ่งเป็น อาหารของราดำ ทำให้ราดำเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และพืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ส่งผลให้ ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ กระทบต่อการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร
ในไทย พบเพลี้ยหอยเกราะอ่อน สกุล Pulvinaria จำนวน 3 ชนิด คือ
- เพลี้ยหอยเกราะอ่อนลำไย (Pulvinaria psidii Maskell) พบใน ลำไย ลิ้นจี่ ฝรั่ง ยี่หร่า
- เพลี้ยหอยเกราะอ่อนมะม่วง (Pulvinaria floccifera (Westwood)) พบใน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง บุหงาสาหรี่
- เพลี้ยหอยเกราะอ่อน (Pulvinaria sp.) พบในต้นตะขาบ และกล้วยไม้ป่า

เพลี้ยหอยเกราะอ่อนลำไย
เพลี้ยหอยเกราะอ่อนลำไย ชื่อวิทยาศาสตร์ Pulvinaria psidii (Maskell) เป็นกลุ่มเพลี้ยหอยเกราะอ่อนที่อยู่ในวงศ์ Coccidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า green shield scale
ลักษณะทั่วไป
เพลี้ยหอยเกราะอ่อนชนิดนี้ มีลักษณะในธรรมชาติที่มีระยะตัวอ่อนจนถึงระยะตัวเต็มวัยมีลำตัวรูปไข่ ค่อนข้างแบนและมีผนังลำตัวสีเขียวค่อนข้างใส ไม่มีไขแป้งสีขาวปกคลุมแต่อย่างใด ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเพลี้ยหอยเกราะอ่อนในสกุล Coccus
แต่เมื่อโตเต็มที่พร้อมวางไข่ ผนังลำตัวเริ่มเป็นสีเขียวขุ่นหรือบางครั้งมีสีน้ำตาล มีไขแป้งสีขาวเริ่มปกคลุมด้านบนของผนังลำตัว และเริ่มมีเส้นใยคล้ายสำลีของถุงไข่บริเวณปลายส่วนท้องและรอบลำตัว
ซึ่งลักษณะในช่วงเริ่มวางไข่นี้ บางครั้งทำให้เกิดความสับสน ระหว่าง เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้งได้ และเป็นลักษณะที่ไม่สามารถพบได้ในเพลี้ยหอยเกราะอ่อนสกุล Coccus
พืชอาหาร
เพลี้ยหอยเกราะอ่อนลำไย เข้าทำลายพืชอาศัย โดยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบ กิ่งและขั้วผลของต้นลำไย ลิ้นจี่ ฝรั่ง และยี่หร่า ไม่พบการระบาดที่รุนแรงจนสร้างความเสียหายให้กับพืชอาศัย
แมลงศัตรูธรรมชาติ
ยังพบการเข้าทำลายของหนอนด้วงเต่า และแตนเบียนที่เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยหอยเกราะอ่อนลำไยชนิดนี้ตามธรรมชาติอีกด้วย