ต้นกระบากใหญ่ ใหญ่ที่สุด! ในประเทศไทย ณ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จ.ตาก.
เนื้อหาข้อมูล"ต้นกระบากใหญ่"
- ต้นกระบากใหญ่ คืออะไร?
- ต้นกระบากใหญ่ อยู่ที่ไหน?
- จุดที่เที่ยวที่น่าสนใจ ตามไปดู!
- ประวัติ เรื่องเล่า ความเป็นมา
- เส้นทางการเดินทาง
ต้นกระบากใหญ่ คืออะไร?
ต้นกระบากใหญ่ คือจุดท่องเที่ยวแนวเที่ยวธรรมชาติในจังหวัดตาก สำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งต้นกระบากใหญ่แห่งนี้อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ที่มีลักษณะเป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์มาก
ซึ่งมีจุดที่เที่ยว ที่น่าสนใจ คือ "ต้นกระบากใหญ่"ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดความโตวัดโดยรอบได้ 16.10 เมตร สูงประมาณ 50 เมตร เป็นต้นกระบากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการสำรวจพบในขณะนี้ รอให้ไปชมความอลังการ อย่างน่าประทับใจ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเที่ยวธรรมชาติ สำรวจศึกษาธรรมชาติ ไม่ควรพลาด!
ต้นกระบากใหญ่ อยู่ที่ไหน?
ต้นกระบากใหญ่ อยู่ในอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งเป็นทางเดินลงเขาชันมาก ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
ต้นกระบากใหญ่ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จังหวัดตาก
ผู้สนใจจึงควรมีสุขภาพแข็งแรง และควรเตรียมน้ำดื่มให้พร้อมสำหรับการเดินลงไปเที่ยวชมและเดินกลับขึ้นมา ระหว่างทางมีป้ายให้ความรู้เรื่องธรรมชาติอยู่เป็นระยะๆ
จุดที่เที่ยวที่น่าสนใจ ตามไปดู!
จุดที่เที่ยวที่น่าสนใจของอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ที่นักท่องเที่ยวจะต้องตามไปดู คือ แลนด์มาร์คสำคัญ อยู่ที่ต้นกระบากใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องใช้คนประมาณ 12 คน จึงจะโอบได้รอบลำต้น มีขนาดวัดโดยรอบ 16 เมตร สูง 50 เมตร ยืนต้น
เรียกได้ว่าใครมาเยือนอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช แล้วไม่ได้บันทึกภาพเก็บไว้เป็นประสบการณ์กับยักษ์ใหญ่ในผืนป่าอนุรักษ์แห่งนี้ถือว่ายังมาไม่ถึง นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางลักษณะภูมิประเทศแล้ว อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชยังมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
ประวัติ เรื่องเล่า ความเป็นมา
ต้นกระบากใหญ่ ณ แห่งนี้ เดิมมีชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่" เนื่องจากมีต้นกระบากที่ใหญ่สุดในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบ ต่อมากรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ได้พิจารณาเพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสิริมงคลแก่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่อันมีค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้แก่ จังหวัดตาก เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ "อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่" เป็น "อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช"
กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ได้ดำเนินการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อใช้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2529 ให้ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช นับเป็นอุทยานแห่งชาติอันดับที่ 40 ของประเทศไทย
ในสมัยโบราณ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเส้นทางการเดินทัพของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อำเภอแม่สอดในปัจจุบัน) เพื่อบุกเข้าตีเมืองตากซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า โดยพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า คราวยกทัพกลับจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาขณะเสด็จกลับระหว่างทางทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่าแห่งนี้
พื้นที่แห่งนี้จึงมีทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ และความสวยงามของป่าดิบชื้นที่หาชมได้ยาก และ ต้นกระบากใหญ่ที่สุด ตัังอยู่ที่นี่ รอให้ผู้คนได้เข้ามาค้นหา สัมผัส และลิ้มรส ความสุขจากธรรมชาติ ที่จะทำให้อิ่มเอมหัวใจ และตราตึง ความรู้สึกไปอีกแสนนาน
เส้นทางการเดินทาง
เส้นทางการเดินทางไปเที่ยวต้นกระบากใหญ่ ณ ดินแดนมหัศจรรย์ เหมือนหลงเข้าไป ในดินแดนป่าหิมพานต์ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ความเขียวขจี ความเงียบ ความเย็นยะเยือก เป็นมนต์ขลังที่แปลก และมีเสน่ห์ ชวนให้หลงใหล ลืมความเหน็ดเหนื่อยของการเดินทาง
โดยในระหว่างทางขาไปในการชมต้นกระบากใหญ่ จะเป็นเส้นทาง เดินลงเนินเขา เดินลงไปเรื่อยๆ สุดลูกหูลูกตามองไม่เห็นจุดหมายปลายทางเลยก็ว่าได้ ระหว่างทางจะได้ชื่นชมสัมผัสกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไม้หายาก หยุดฟังเสียงนกร้อง ป้ายสื่อความหมายให้ความรู้ และพืชพันธุ์แปลกๆ ที่หาพบได้ยาก จะมีเฉพาะในป่าดิบชื้น เท่านั้น เป็นเสน่ห์ที่แปลกประหลาดเหมือนจะลึกลับแต่เย็นสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก
ก่อนจะถึงต้นกระบากใหญ่ จะพบกับลำธารเล็กๆ มีน้ำใสๆไหลผ่าน มีสะพานไม้เก่าๆ คลาสสิคพาดอยู่ นั่งพักเหนื่อยกลางสะพาน พร้อมกับเอามือจุ่มสัมผัส สายน้ำที่ไหลเอ่ย ทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง อย่างนี้นี่เองที่เขาเรียกว่า ธรรมชาติบําบัด
เมื่อมาถึงจุดนี้มองด้วยสายตาห่างออกไปประมาณ 50 เมตร จะพบกับต้นกระบากใหญ่ ตั้งตระหง่านเป็นสง่าอยู่กลางป่า มองลาดตาคล้ายกับเท้าไดโนเสาร์ กระทืบตั้งเด่นอยู่กลางป่าแห่งนี้
ที่มา : ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่, สำนักบริหารงานกลาง, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.