แมวดาว' ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อภาษาอังกฤษ ลักษณะ กินอะไร ถิ่นที่อยู่อาศัย สถานภาพ.
เนื้อหาข้อมูล"แมวดาว"
- แมวดาว คืออะไร
- แมวดาวกินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- การสืบพันธุ์ของแมวดาว
- ถิ่นที่อยู่อาศัยของแมวดาว
- การแพร่กระจาย
- สถานภาพของแมวดาว
- ปัจจัยคุกคาม
แมวดาว คืออะไร
แมวดาว คือสัตว์ป่าชนิดหนึ่งในกลุ่มสัตว์กินเนื้อ ที่ดำรงชีวิตอยู่อาศัยตามป่าธรรมชาติในประเทศไทย แมวดาวเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่น หายใจโดยใช้ปอด มีขนแบบเส้นขน (hair) ปกคลุมร่างกาย มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ตัวอ่อนเจริญอยู่ในมดลูก ตัวอ่อนได้รับอาหารผ่านทางรกและสายสะดือ เพศเมียมีต่อมน้ำนมสำหรับผลิตน้ำนม เพื่อเป็นอาหารให้ลูกกินหลังจากคลอดออกมาแล้ว
แมวดาวกินอะไรเป็นอาหาร
แมวดาว; ภาพโดย Zaharil Dzulkafly.
แมวดาวเป็นสัตว์กินเนื้อ อาหารแมวดาว ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู กระรอก กระแต จิ้งเหลน กิ้งก่า ไก่ เป็นต้น มีรายงานว่า บางครั้งแมวดาวสามารถกินซากสัตว์ได้เช่นเดียวกัน (Nowell and Jackson, 1996)
ชื่อวิทยาศาสตร์
แมวดาว ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Prionailurus bengalensis (Kerr, 1792) เป็นสัตว์ในสกุล Prionailurus ซึ่งอยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) โดยที่วงศ์นี้อยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Leopard Cat.
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Mammalia
- อันดับ (Order) : Carnivora
- วงศ์ (Family) : Felidae
- สกุล (Genus) : Prionailurus
ลักษณะทั่วไป
แมวดาวเป็นสัตว์ในตระกูลแมวที่มีขนาดเล็ก ขนสั้นและบาง ลำตัวสีน้ำตาลแกมเหลืองหรือสีเนื้อ หลังและสีข้างมี จุดสีเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลเข้ม 4-5 เส้นพาดจากกระหม่อม มาขยายกว้างขึ้นที่ไหล่ แล้วกลายเป็นลายจุดบริเวณลำตัว และขา หางยาว และมีแถบสีดำคาดเป็นวงจนถึงปลายหาง ลำตัวด้านล่างสีขาว รอบปากสีขาว มีเส้นสีขาว 2 เส้น พาดผ่านตา
การสืบพันธุ์ของแมวดาว
การสืบพันธุ์ของแมวดาว เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ระยะตั้งท้องนาน 70 วัน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว
ถิ่นที่อยู่อาศัยของแมวดาว
แมวดาว มีถิ่นที่อยู่อาศัยพบได้ในถิ่นอาศัยหลายประเภท ทั้งในป่าดงดิบเขตร้อน ป่าสน ป่าพุ่มผสมทุ่งหญ้า หรือรวมทั้งพื้นที่ เกษตรกรรมและบริเวณชานเมือง ส่วนใหญ่หากินในเวลากลางคืน อาจพบหากินในเวลากลางวันบ้าง
ในการศึกษาพื้นที่หากินของแมวดาวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยการติดปลอกคอวิทยุ พบว่าแมวดาวมีพื้นที่หากิน ประมาณ 12.7 ตารางกิโลเมตร (Grassman et al., 2005)
แมวดาวมีความสามารถในการว่ายน้ำได้ดีและประสบความสำเร็จในการสร้างอาณาเขตบริเวณพื้นที่อยู่นอกชายฝั่ง (Nowell and Jackson, 1996, Sunquist and Sunquist, 2002)
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของแมวดาว มีการกระจายอย่างกว้างขวางในทวีปเอเชีย พบได้ตั้งแต่ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ถึง ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บริเวณตีนภูเขาหิมาลัยตลอดจนประเทศจีน คายสมุทรเกาหลีจนถึงประเทศรัสเซีย และทางภูมิภาคเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และเกาะไต้หวัน
สำหรับการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย พบแมวดาวทั่วประเทศ ยกเว้นที่ราบลุ่มภาคกลาง (ประทีป, 2554)
สถานภาพของแมวดาว
แมวดาว มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535, CITES: Appendix II, สถานภาพการอนุรักษ์ Least Concern (IUCN Red List 2013)
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.