กบอกหนาม, กบอกหนามจันทบูร ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะเด่น ถิ่นที่อยู่อาศัย
เนื้อหาข้อมูล "กบอกหนาม"
กบอกหนาม คืออะไร
บริเวณที่มีความชื้นตามริมลำธารที่มีน้ำไหลแรง ในระดับความสูง 200-800 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง สภาพทางนิเวศเช่นนี้ จะมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า “กบอกหนาม” อาศัยอยู่
กบอกหนาม หรือ กบอกหนามจันทบูร ชื่อวิทยาศาสตร์ Quasipaa fasciculispina (Robert Frederick Inger, 1970) จัดอยู่ในวงศ์กบ-เขียด Dicroglossidae ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Spiny-breasted Giant Frog, Cardamom spiny frog, Spiny-breasted frog, Spine-glanded mountain frog, Spiny mountain frog, Thai Paa frog โดยมีชื่อพ้อง (Synonyms) คือ Rana fasciculispina และ Paa fasciculispina
กบอกหนาม Quasipaa fasciculispina; ภาพโดย Arddu.
ลักษณะ กบอกหนาม
กบชนิดนี้ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับคางคก คือ มีผิวหนังที่หยาบ ขรุขระ เป็นสันและปุ่ม ลำตัวมีสีตั้งแต่ เขียว น้ำตาล จนถึงดำ มีจุดประสีน้ำตาลกระจายทั่วทั้งตัว
ลักษณะเด่นอันเป็นที่มาของชื่อกบ "อกหนาม" คือ กบเพศผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ (ประมาณ พ.ย.-ธ.ค.) บนแผ่นอกและใต้คางจะมีกลุ่มหนามสีดำ กลุ่มละประมาณ 5-10 อัน ขึ้นกระจายกันอยู่ เป็นอวัยวะที่ช่วยในการเกาะติด กับตัวเมียในช่วงเวลาของการผสมพันธุ์วางไข่ เมื่อสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์แล้วหนามเหล่านี้จะหลุดหายไป หลงเหลือเพียงรอยคล้ำๆ เท่านั้น แต่ลักษณะดังกล่าวกลับ ไม่พบในเพศเมีย
ส่วน กบอกหนาม อีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถพบได้ที่จังหวัดน่าน ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา คือเป็น "กบอกหนามน่าน" (Quasipaa veucospinosa) ซึ่งเป็นคนละชนิดกันกับ "กบอกหนามจันทบูร" โดยทั้งสองชนิดนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่
ถิ่นที่อยู่อาศัย
กบอกหนาม อาศัยอยู่ตามแนวก้อนหินใหญ่ริมลำธาร หรือรอบๆ แอ่งน้ำตก จะเป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของกบอกหนาม ลูกอ๊อดที่ออกจากไข่จะเกาะอยู่ตามก้อน หินติดกับระดับน้ำ เพื่อจับกินอาหารที่ลอยอยู่ตามผิวน้ำ
ในประเทศไทย พบกบอกหนาม กระจายอยู่เฉพาะในภาคตะวันออกเท่านั้น พบมากในผืนป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี
สถานภาพ กบอกหนาม
ปัจจุบันกบอกหนามได้รับการประกาศ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535.