ปลาปล้องอ้อยพรุ ลักษณะเด่น วิธีเลี้ยง กินอะไรเป็นอาหาร ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ.
เนื้อหาข้อมูล ปลาปล้องอ้อยพรุ
- ปลาปล้องอ้อยพรุ คืออะไร?
- ลักษณะเด่น
- ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
- วิธีเลี้ยงในตู้ปลา
- กินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- ลักษณะทั่วไป
- การแพร่กระจายและถิ่นอาศัย
- สถานภาพ
ปลาปล้องอ้อยพรุ คืออะไร?
ปลาปล้องอ้อยพรุ คือสัตว์จำพวกปลาในกลุ่มปลาน้ำจืดไทยชนิดหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไทยที่มีลักษณะสวยงาม จึงนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลา เป็นปลาสวยงามน้ำจืดของไทย
ปลาปล้องอ้อยพรุ เป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกปลากระดูกแข็ง (Bony fish) ในชั้นปลาที่มีก้านครีบ (ray-finned fish) ซึ่งจัดเป็นสัตว์เลือดเย็น (Cold-blooded) ที่อุณหภูมิในร่างกายสามารถปรับเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย หายใจด้วยเหงือก ช่องเหงือกมองไม่เห็นมีแผ่นแก้มปิดเหงือก มีลักษณะโครงกระดูกเป็นกระดูกแข็ง มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวค่อนข้างแบน มีครีบและหาง ซึ่งใช้ในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวในน้ำ
ลักษณะเด่น
ปลาปล้องอ้อยพรุ มีลักษณะเด่นคือลำตัวเรียวยาวคล้ายงู มีชื่อสามัญว่า "Kuhli loach" หรือเรียกว่า คูลี่ หรือ ปลางูคูลี่ ส่วนหัวเล็ก ตาเล็ก รูจมูกมีติ่งสั้น หัวและลำตัวมีลายปล้องสีดำบนพื้นเหลือง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ปลาปล้องอ้อย" มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มุดอยู่ใต้กองใบไม้หรือกรวดหินในลำธารที่มีกรวดและใบไม้ร่วงหนาแน่น เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วว่องไวมาก
ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
ปลาสวยงามน้ำจืดไทยชนิดนี้ นอกจากมีชื่อไทยว่า 'ปลาปล้องอ้อยพรุ' แล้วยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง (vernacular name) หรือ ชื่อท้องถิ่น (local name) ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก เช่น ปลาปล้องอ้อย, ปลาอีแกตาลี, ปลางูคูลี่, ปลาคูลี่ เป็นต้น.
วิธีเลี้ยงในตู้ปลา
วิธีเลี้ยงปลาปล้องอ้อยพรุในตู้ปลา สามารถเลี้ยงในตู้ขนาดเล็กร่วมกับปลาชนิดอื่นที่ไม่ก้าวร้าว ตกแต่งตู้ด้วยก้อนหินหรือขอนไม้ อุปนิสัยมักหลบตามที่หลบซ่อน
กินอะไรเป็นอาหาร
Photo by อรุณี รอดลอย.
อาหารของปลาปล้องอ้อยพรุ ในธรรมชาติจะกินแพลงก์ตอน ไรน้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำเป็นอาหาร แต่ในที่เลี้ยงในตู้ปลา สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดชนิดจมน้ำได้
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ ปลาปล้องอ้อยพรุ ภาษาอังกฤษ ว่า Malayan Loach, Kuhli Loach.
ชื่อวิทยาศาสตร์
ปลาปล้องอ้อยพรุ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Pangio semicincta (Fraser-Brunner, 1940) เป็นปลาน้ำจืดไทยในสกุล Pangio โดยถูกจัดอยู่ในวงศ์ปลาหมู (Cobitidae) ซึ่งเป็นวงศ์ปลาน้ำจืดในอันดับปลาตะเพียน (Cypriniformes)
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Acanthophthalmus semicinctus Fraser-Brunner, 1940
- Pangio semicinctus (Fraser-Brunner, 1940)
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Actinopterygii
- อันดับ (Order) : Cypriniformes
- วงศ์ (Family) : Cobitidae
- สกุล (Genus) : Pangio
- ชนิด (Species) : Pangio semicincta
ลักษณะทั่วไป
ปลาปล้องอ้อยพรุ มีลักษณะลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาไหลขนาดเล็กหรือคล้ายงู ลายปล้องสีเหลืองสลับน้ำตาลเข้ม จำนวน 9-12 แถบ แถบสีเข้มจะหยุดแค่บริเวณท้องไม่ข้ามท้องไปอีกฝั่ง แถบสีเหลืองขนาดเล็กกว่าสีน้ำตาลเล็กน้อย และบริเวณส่วนท้องมีสีขาว ในตัวเมียมักจะมีขนาดใหญ่มากกว่าตัวผู้
การแพร่กระจายและถิ่นอาศัย
การแพร่กระจายและถิ่นอาศัยของปลาปล้องอ้อยพรุ พบในป่าพรุทางภาคใต้ของประเทศไทย แถบประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียวและสุมาตรา มักพบในแหล่งน้ำนิ่งที่เป็นพื้นทรายและโคลน เช่น ในลำธาร หนองน้ำ ทะเลสาบ ที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นปกคลุม มี pH ต่ำ และพื้นแหล่งน้ำมักมีเศษใบไม้ทับถมจำนวนมาก
สถานภาพ
ปลาปล้องอ้อยพรุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากถูกจับจากแหล่งอาศัยในธรรมชาติเพื่อนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามส่งจำหน่ายต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล กรมประมงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออก เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป
ที่มา : อรุณี รอดลอย. (2564). 95 ชนิด ปลาสวยงามน้ำจืดไทย 95 ปี กรมประมง. กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.