ตุ๊กแกป่าหัวโต. ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ลักษณะ, ถิ่นที่อยู่อาศัย กินอะไร สถานภาพ
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"ตุ๊กแกป่าหัวโต"
- ตุ๊กแกป่าหัวโต คืออะไร?
- ชื่อวิทยาศาสตร์?
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป?
- ถิ่นที่อยู่อาศัย ตุ๊กแกป่าหัวโต?
- ตุ๊กแกป่าหัวโต กินอะไร?
- การแพร่กระจาย?
- สถานภาพ ตุ๊กแกป่าหัวโต?
ตุ๊กแกป่าหัวโต คืออะไร?
ตุ๊กแกป่าหัวโต คือสัตว์ป่าชนิดหนึ่งในกลุ่มตุ๊กแกที่มีเปลือกตา (Eyelid Geckos) ที่สามารถหลับตาได้ ซึ่งดำรงชีวิตอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในป่าของประเทศไทย มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย
ตุ๊กแกป่าหัวโตเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสัตว์จำพวกนี้เป็นสัตว์เลือดเย็น (Cold-blooded) ที่อุณหภูมิในร่างกายสามารถปรับเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย หายใจโดยใช้ปอด มีผิวหนังแห้งหนา มีเกล็ดที่แข็งและแห้งปกคลุมลำตัว มี 4 ขาหรือไม่มีขา อาศัยได้ทั้งบนบกและในน้ำ วางไข่บนบกและไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม บางชนิดออกลูกเป็นตัว
ตุ๊กแกป่าหัวโต; ภาพโดย Halabala Wildlife Research Station.
ชื่อวิทยาศาสตร์?
ตุ๊กแกป่าหัวโต ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Aeluroscalabotes felinus (Gunther, 1864) เป็นพันธุ์สัตว์ในสกุล Aeluroscalabotes ซึ่งอยู่ในวงศ์ตุ๊กแกเปลือกตา (Eublepharidae) โดยสัตว์ในวงศ์นี้อยู่ในอันดับอันดับกิ้งก่าและงู (Squamata)
นอกจากชื่อ ตุ๊กแกป่าหัวโต นี้แล้ว ยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น ตุ๊กแกหัวโต, ตุ๊กแกแมว เป็นต้น และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Cat Gecko, Fox Gecko, Malaysian Cat Gecko.
สถานที่พบครั้งแรก
ตุ๊กแกป่าหัวโต ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ (ส่วน Pentadactylus borneensis G.NTHER, 1864 พบครั้งแรกที่ รัฐชาลาวัค เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย และ Pentadactylus dorsalis PETERS, 1871 พบครั้งแรกที่สิงคโปร์)
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Reptilia
- อันดับ (Order) : Squamata
- วงศ์ (Family) : Eublepharidae
- สกุล (Genus) : Aeluroscalabotes
ลักษณะทั่วไป?
ตุ๊กแกป่าหัวโต มีลักษณะหัวที่ใหญ่ไม่เป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับตัว มีหางม้วนและใหญ่ เป็นกลุ่มจิ้งจกตุ๊กแกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายจมูกถึงกันประมาณ 11 มิลลิเมตร หาง ยาว ประมาณ 7-8 มิลลิเมตร เป็นชนิดเดียวในกลุ่มจิ้งจกตุ๊กแกของเอเชียที่มีเปลือกตาและ สามารถหลับตาได้
นิ้วทั้ง 5 มีเล็บที่สามารถหดเข้าไปอยู่ระหว่างเกล็ดขนาดใหญ่ 3 เกล็ด ลำตัว เพรียว หัวโตรูปสามเหลี่ยม โดยมีความกว้างมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบคอ หางอ้วนป้อม ลำตัว แบนลง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเหลือง อาจมีลายเส้นหรือลายขีดตามยาวสีน้ำตาลอ่อน 2 แถว จากท้ายทอยถึงโคนหาง
ริมฝีปาก คาง และท้องสีขาวครีม หางสีน้ำตาลมักมีลายจุดหรือแต้ม สีขาว มักนอนขดตัวม้วนหางเป็นวงกลม คล้ายกับการนอนของแมว เป็นที่มาของชื่อ ตุ๊กแกแมว (Cat Gecko)
ลักษณะพิเศษของตุ๊กแกชนิดนี้ คือ เป็นตุ๊กแกชนิดเดียวในป่าแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง จึงมีความสามารถในการปิดเปลือกตาหรือหลับตาได้ ปกติแล้วตุ๊กแกส่วนใหญ่ที่ไม่มีเปลือกตาจะใช้วิธีการเลียตาเพื่อเป็นการทำความสะอาด
ถิ่นที่อยู่อาศัย ตุ๊กแกป่าหัวโต?
ตุ๊กแกป่าหัวโต มีถิ่นที่อยู่อาศัย มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เปียกขึ้น ในป่าดิบขึ้น พบตัวอย่างบริเวณพุ่มไม้ริมลำธาร (Taylor, 1963) มักพบใกล้กับลำธารหรือแหล่งน้ำในป่า พบได้ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ ส่วนใหญ่พบในป่าที่ราบต่ำ
ตุ๊กแกป่าหัวโต กินอะไร?
อาหารตุ๊กแกป่าหัวโต เป็นสัตว์ที่หากินเวลากลางคืนตามพงไม้ เคลื่อนตัวช้าบนต้นไม้ ลำต้น กิ่งไม้ อาหารได้แก่ แมลง แมงมุม และจิ้งหรีด
การแพร่กระจาย?
เขตแพร่กระจายของตุ๊กแกป่าหัวโต พบในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบที่ภาคใต้ตอนล่างในจังหวัดนราธิวาส ยะลา (บันนังสตา, ฮาลา-บาลา) และสตูล หรือบริเวณที่เป็นส่วนของเทือกเขาสันกาลาคีรี
สถานภาพ ตุ๊กแกป่าหัวโต?
ตุ๊กแกป่าหัวโต มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบาง ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546
สถานภาพใน IUCN ยังอยู่ในสถานะไม่น่าเป็นห่วง (LC) เพราะยังมีการเจออยู่เรื่อย ๆ หรือบางทีอาจมีข้อมูลของการประเมินหรือการรายงานการสำรวจน้อยเกินไป หรือยังไม่มีใครที่รายงานการสำรวจและประเมินอย่างจริงจังออกมา แต่ในภาพรวมก็ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะว่ามีข้อมูลจากการรายงานหรือพบเห็นตัวน้อยมาก
ด้วยความเฉพาะเจาะจงที่พบได้เฉพาะพื้นที่ป่าดิบชื้นแบบมลายูและพบในพื้นที่ราบต่ำ ซึ่งสภาพป่าลักษณะนี้เหลืออยู่ไม่มากแล้ว ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย รวมทั้งเกาะบอร์เนียว ป่าที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นเขาและพื้นที่ลาดชัน
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.