น้ำตกธารทิพย์ เพชรบูรณ์ ลักษณะ เส้นทาง อุทยานแห่งชาติเขาค้อ, ธรณีวิทยา, ประวัติ
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"น้ำตกธารทิพย์"
- น้ำตกธารทิพย์ คืออะไร?
- น้ำตกธารทิพย์ อยู่ที่ไหน?
- ลักษณะ น้ำตกธารทิพย์
- จุดที่เที่ยวที่น่าสนใจ ตามไปดู!
- ประวัติ เรื่องเล่า ความเป็นมา
- เส้นทางการเดินทางไปน้ำตก
น้ำตกธารทิพย์ คืออะไร?
น้ำตกธารทิพย์ คือสถานที่ท่องเที่ยวแนวเที่ยวธรรมชาติในจังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งน้ำตกธารทิพย์แห่งนี้อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นภูเขา จึงมีแหล่งที่เที่ยวที่น่าสนใจ คือ น้ำตกที่สวยงาม น่าประทับใจ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวภูเขา เที่ยวน้ำตก ไม่ควรพลาด!
น้ำตกธารทิพย์ อยู่ที่ไหน?
น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่อยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ใน อุทยานแห่งชาติเขาค้อ โดยที่ตั้งของน้ำตกธารทิพย์จะอยู่ใน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขค.1 (ธารทิพย์) หมู่ 11 บ้านธารทิพย์ ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
พิกัด : 0726628E 1842367N
น้ำตกธารทิพย์ จังหวัดเพชรบูรณ์
ลักษณะ น้ำตกธารทิพย์
น้ำตกธารทิพย์ มีลักษณะเป็นต้นน้ำของห้วยน้ำคล้า ที่สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาหิน สูงราว 26 เมตร แต่หน้าน้ำตกเป็นหน้าผาหิน กว้างราว 30 เมตร ตกลาดลงมาชั้นเดียว แล้วไหลลาดหลั่นลงมาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยบนลานหินกว้างออกไปอีกหลายขั้นเป็นระยะทางยาว 2 กิโลเมตร ก่อนจะ ไหลเลียบทางผ่านที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ออกไปนอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติต่อไป
จุดที่เที่ยวที่น่าสนใจ ตามไปดู!
จุดที่เที่ยวที่น่าสนใจของน้ำตกธารทิพย์ ที่นักท่องเที่ยวจะต้องตามไปดู คือ ธรณีวิทยาของพื้นที่มีโครงสร้างที่โดดเด่น คือ มีลักษณะของทางน้ำไหลตัดผ่านแนวชั้นหินทรายซึ่งเป็นรอบต่อของหมวดหินน้ำพอง ซึ่งวางตัวอยู่ด้านบนกับหน่วยหินห้วยหินลาด มองเห็นลักษณะชั้นหินและโครงสร้างอย่างชัดเจน บริเวณน้ำตกเป็นหินทรายและหินโคลน สีเทาดำสลับกัน มีหินปูนปนโคลนสีเทาดำแทรก ซึ่งเมื่อผุจะเป็นสีขาว มีการคดโค้งคงทนถึงปานกลาง จัดอยู่ในหมวดหินห้วยหินลาด อายุ ไทรแอสสิกตอนปลายหรือคาร์เนียน - นอเรียน (ประมาณ 230 ล้านปี)
บริเวณตัวน้ำตกและเหนือขึ้นไป เป็นหินทรายสีน้ำตาลแกมแดง เนื้อละเอียด ชั้นหินหนาประมาณ 15 - 150 เซนติเมตร มีความคงที่ปานกลางถึงสูง แสดงลักษณะชั้นดีและชั้นบางของหน่วยหินน้ำพอง อายุช่วงไทรแอสสิกตอนปลาย หรือเรเรียน (ประมาณ 200 ล้านปี) โดยรอยต่อระหว่างหน่วยหินน้ำพอง กับหน่วยห้วยหินลาด ทิศทาง 180 องศา/50 องศา รอยแยกในชั้นหินทราย ของหน่วยหินน้ำพอง 10 องศา/80 องศา
ประวัติ เรื่องเล่า ความเป็นมา
เดิมลำห้วยสายเดียวกันนี้ เคยมีน้ำตกต่อเนื่องกันขึ้นไปด้านบนอีก 4 แห่ง ที่ต้องเดินเท้าไปจากน้ำตกธารทิพย์ เดินไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงน้ำตกขั้นบันได แล้วต่อไปอีก 500 เมตร ถึงน้ำตกแก่งเลียงผา ยังมีน้ำตกผาเอียง น้ำตกตาดฟ้าอีก
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อปี 2544 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องกันจนเกิดกรณีน้ำป่าถล่มบ้านน้ำก้อ - น้ำขุน เนื่องจากฝนที่ตกหนักคราวนั้น ทำให้ปริมาณน้ำในป่ามีมหาศาล พัดรุนแรงจนพัดพาเอาก้อนหินน้อยใหญ่ลงมาตามลำห้วย ถล่มแก่งเลียงผาน้ำตกขั้นบันได และน้ำตกอื่น ๆ จนไม่เหลือสภาพน้ำตกอีกต่อไป เป็นเพียงแก่งน้ำที่มีหินระเกะระกะ คงเหลือเพียงน้ำตกธารทิพย์เท่านั้น
เส้นทางการเดินทางไปน้ำตก
เส้นทางการเดินทางมาเที่ยวน้ำตกธารทิพย์ จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์ - หล่มสัก) เลยตลาดท่าพลไปก่อน ราวหลักกิโลเมตรที่ 250 ถึงบ้านบุ่งน้ำเต้า (28 กม. จากตัวเมืองเพชรบูรณ์)
จากนั้นเลี้ยวซ้ายไป จะพบทางอีกเส้น เลี้ยวขวา แล้วไปตามทาง ราว 4 กิโลเมตร พอถึงสามแยก ม.พัน 28 ให้เลี้ยวซ้าย (ทางสายนี้ขึ้นเขาค้อได้เช่นกัน) ไปราว 50 เมตร มีป้ายทางเข้าน้ำตกธารทิพย์ เข้าไป 1 กิโลเมตร ถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (มีลานกางเต็นท์ไว้บริการ) ตัวน้ำตกต้องเลยเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงลานจอดรถ แล้วเดินเท้าไปราว 300 เมตร ถึงน้ำตก
ที่มา : สำนักอุทยานแห่งชาติ. น้ำตกในอุทยานแห่งชาติ. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.