Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ลักษณะของเวทีเสียง sound stage setup การเซ็ตอัพ วางตำแหน่งลำโพง ซ้าย-ขวา.

ระบบเสียงที่ใช้ในการมิกซ์เพลง (ผสมเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เข้าด้วยกัน) ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานหลักในปัจจุบันคือระบบเสียง "สเตริโอ" (stereo) ที่แยกสัญญาณออกเป็น 2 ทิศทาง (หรือ 2 channel)

จึงต้องอาศัยลำโพงจำนวน 2 ตัว (ซ้าย/ขวา) ร่วมกันทำงานเป็นมอนิเตอร์ เพื่อให้ได้เสียงออกมาตรงตามมาตรฐานสเตริโอ ทั้งในขั้นตอนมิกซ์เพลง (production) และขั้นตอนการเปิดฟัง (reproduction) 

ลักษณะการจัดวางลำโพงทั้งสองข้าง (Right Channel / Left Channel) จึงส่งผลกับคุณภาพของเสียงที่ออกมาจากลำโพง ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย-ขวา, ระยะระหว่างลำโพงซ้าย-ขวากับผนังด้านข้าง และผนังด้านหลัง

ภาพกราฟฟิกทั้ง 3 ภาพนี้จะแสดงให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นกับ ภาพลักษณ์ทางด้าน "มิติ-เวทีเสียง" (image & sound stage) ที่รับรู้ได้จากการฟัง (*ภาพกราฟฟิกเหล่านี้เป็นการจำลองให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น)

ลักษณะของเวทีเสียง (Sound Stage) การวางตำแหน่งลำโพง speakers

ภาพ A = เป็นลักษณะของ "เวทีเสียง" ในอุดมคติ ซึ่งจะได้ยินแบบนี้เมื่อทำการจัดตั้งตำแหน่งของลำโพงซ้าย-ขวาได้อย่างลงตัวในห้องฟังที่มีสัดส่วนที่ดีและมีการจัดการทางด้านอะคูสติกที่ดี

รายละเอียดเพิ่มเติม

จุดเขียว, แดง และม่วง ในภาพนี้เป็นตัวอย่างแสดงแทนตำแหน่งของเสียงดนตรี 3 ชิ้น ซึ่งจุดกึ่งกลางของทั้งสามตำแหน่งที่เข้มที่สุดแสดงแทนส่วนที่เป็น "อิมเมจ" (image) หรือหัวเสียงสัมผัสแรก (impact)  ของโน๊ต

ส่วนวงกลมสีจางที่ล้อมรอบออกมาเป็นชั้น ๆ นั้น แสดงแทนส่วนที่เป็น "หางเสียง" ที่ค่อยๆ แผ่วลงเป็นลำดับ ส่วนวงกลมใหญ่สีฟ้านั้นแสดงแทนลักษณะของ "เวทีเสียง" ในอุดมคติที่เกิดจากการรวมตัวของตัวเสียงและหางเสียงของชิ้นดนตรี (และเสียงร้อง กรณีเป็นเพลงร้อง) ทั้งหมดในเพลงนั้น ที่ถูกบรรเลงขึ้นมาพร้อมกัน

พลังงานของคลื่นเสียง (energy) ที่เกิดจากการรวมตัวของตัวเสียงและหางเสียงของชิ้นดนตรีทั้งหมดนั้นจะแผ่ลอยออกมาด้านหน้าลำโพงในลักษณะของ "บรรยากาศ" (ambient) ที่ห่อหุ้มสนามเสียงทั้งหมดเอาไว้ และถ้าเราเปิดเสียงดังมากพอ มวลบรรยากาศนั้นจะแผ่คลุมจนมาถึงตำแหน่งนั่งฟัง และทะลุเลยผนังห้องออกไป (ขอบเขตของเวทีเสียง)

แสดงลักษณะของเวทีเสียงที่เกิดขึ้นกรณีที่ลำโพงซ้าย-ขวาถูกวางห่างกันมากๆ

ภาพ B = แสดงลักษณะของเวทีเสียงที่เกิดขึ้นกรณีที่ลำโพงซ้าย-ขวาถูกวางห่างกันมากๆ จนทำให้คลื่นเสียงจากลำโพงซ้ายและขวาที่ (ควรจะต้อง) เดินทางมาซ้อนทับกัน ณ บริเวณพื้นที่อากาศที่อยู่ระหว่างลำโพงซ้าย-ขวา (ระยะห่างซ้าย-ขวา) เดินทางมาไม่ถึง

เวทีเสียงจึงถูกฉีกออกเป็น 3 ส่วน คือรอบๆ ลำโพงทั้งสองข้าง กับด้านหลังระนาบลำโพงซึ่งจะมีลักษณะที่เบาบาง และอาจจะจับโฟกัสของตำแหน่งเสียงบางชิ้นไม่ได้ เนื่องจากสัญญาณเสียงนั้นมีลักษณะ out-of-phase (เฟสเสียงจากลำโพงซ้าย-ขวาไม่ซ้อนทับกันสนิท)

แสดงลักษณะของเวทีเสียงที่เกิดจากการวางลำโพงห่างกันมากๆ

ภาพ C = แสดงลักษณะของเวทีเสียงที่เกิดจากการวางลำโพงห่างกันมากๆ ส่วนใหญ่จะมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป กรณีที่เป็นลำโพงขนาดใหญ่ + แอมป์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังขับเยอะ ๆ จะสามารถวางห่างประมาณนั้นได้โดยที่ไม่ทำให้เวทีเสียงเสียรูป

เนื่องจากลำโพงขนาดใหญ่มีพลังงานเยอะพอที่จะแผ่มาถึงกันได้ (แอมป์ก็ต้องมีกำลังมากพอแม็ทชิ่งกับลำโพงด้วย) แต่ถ้าลำโพงมีขนาดเล็ก การวางลำโพงซ้าย-ขวาให้ห่างกันมาก ๆ จะส่งผลให้เวทีเสียงเสียรูปไปตามตัวอย่างภาพ B

ซึ่งมักจะพบเห็นได้ในระบบเสียงที่ใช้งานร่วมกันระหว่างฟังเพลง 2 แชนเนล กับดูหนังด้วยระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่มีจอภาพขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังตำแหน่งวางลำโพง ทำให้จำเป็นต้องวางลำโพงซ้าย-ขวาห่างกันมากกว่า 2 เมตรขึ้นไปเพื่อไม่ให้ลำโพงคู่หน้าบังจอ

กรณีนี้ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ได้ วิธีทุเลาปัญหาก็คือ "เอียงหน้าลำโพง" (โทอิน) ทั้งสองข้างให้ยิงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังทีละนิด จนกระทั่งได้ยินโฟกัสของเสียงบริเวณตรงกลางระหว่างลำโพงซ้าย-ขวาที่ชัดเจนมากขึ้น

วิธีนี้พอช่วยแก้ไขเรื่องโฟกัสของเสียงได้ แต่ก็จะทำให้รูปวงเวทีเสียงผิดเพี้ยนจากที่ควรจะเป็น คือลู่ลงไปทางด้านหลังและบีบโฟกัสเข้าบริเวณกลาง ไม่ลึกแบบแผ่ออกไปซ้าย-ขวา เวทีเสียงจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนการเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงตามภาพ A 

เวทีเสียงปั้นเอาได้ ถ้าต้องการเซ็ตอัพชุดฟังเพลง2แชนเนลกับชุดโฮมเธียเตอร์ร่วมกันให้ใช้ลำโพงคู่หน้าตัวใหญ่หน่อย

ข้อมูลและภาพ: Thanee Modsanga

รายละเอียดเพิ่มเติม