วาสุกรีอุ้มผาง ดอกไม้ป่า วงศ์หน้าแมว พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ อ.อุ้มผาง ตาก
วาสุกรีอุ้มผาง คืออะไร
วาสุกรีอุ้มผาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Viola umphangensis S. Nansai, Srisanga & Suwanph. อยู่ในวงศ์หน้าแมว Violaceae ถูกค้นพบโดย ว่าที่ร้อยตรีหญิง สุลิสา นานใส, ดร. ปรัชญา ศรีสง่า, Prof. Dr. Trevor R. Hodkinson และ รศ.ดร. เฉลิมพล สุวรรณภักดี จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์, องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และ Botany Department, Trinity College Dublin (TCD), The University of Dublin, Ireland
วาสุกรีอุ้มผาง ถูกค้นพบในขณะที่ดำเนินการวิจัยเรื่องการศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานของพืชสกุลหน้าแมว (𝘝𝘪𝘰𝘭𝘢) ในประเทศไทย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทุนวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ พ.ศ. 2559 บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ร่วมกัน ในปี พ.ศ. 2563 ในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ 38 ฉบับที่ 4 จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ S.Nansai 10 เก็บเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (holotype: BKF, isotypes: BK, BKF, QBG)
ค้นพบครั้งแรกที่ไหน
วาสุกรีอุ้มผาง ถูกค้นพบครั้งแรกในป่าไผ่ผสมก่อ บริเวณดอยหัวหมด อ. อุ้มผาง จ. ตาก ซึ่งเป็นดอยที่มีลักษณะเอกลักษณ์ คือ เป็นภูเขาหินปูนไม่สูงมาก ทอดเป็นแนวยาวหลายลูกติดต่อกัน ไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม มีเฉพาะต้นไม้และหญ้าเตี้ยๆ หรือไม้ทนแล้ง ขึ้นกระจัดกระจาย โดยคำระบุชนิด "umphangensis" ตั้งให้เป็นเกียรติแก่อำเภออุ้มผาง แสดงถึงชื่อ อำเภอที่พบพืชชนิดนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ประโยชน์
วาสุกรีอุ้มผาง มีลักษณะวิสัยเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี (perennial herb) สูง 7-21 ซม. ไม่มีไหล (stolon) ดอกมีสีขาว บริเวณตรงกลางดอกมีสีม่วง จึงเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นไม้ประดับ ไม้กระถาง และปรับปรุงพันธุ์ให้ดอกมีลักษณะสีสันสวยงามแบบใหม่ ๆ เช่นเดียวกับดอกหน้าแมวหรือแพนซี (pansy) ในสกุลเดียวกันที่นิยมปลูกในแถบหนาว นอกจากนี้ยังมีศักยภาพเรื่องการนำมาสกัดสารเพื่อใช้ทดสอบฤทธิ์ เนื่องจากพืชในสกุลเดียวกันมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ทางยา เช่น V. tricolor, V. odorata, V. maculata เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบเดี่ยว เรียงเวียนชิดกันเหนือผิวดิน รูปไข่ กว้าง 0.8-5 ซม. ยาว 1-6.5 ซม. ปลายใบแหลม โคนรูปหัวใจกว้าง ขอบหยักมนถึงจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 1-15 ซม. ดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว 4-13 ซม. ใบประดับรูปแถบ กว้าง 5-8 มม. ยาว 6.3-10 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 มม. ยาว 4.7-5.5 มม. ปลายแหลม กลีบดอก ซีกบน 2 กลีบ รูปไข่กลับ สีขาวและมีเส้นสีม่วงเข้ม กว้าง 2.5-4.5 มม. ยาว 6.2-10.5 มม. กลีบดอกซีกล่าง 3 กลีบ กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ สีขาวและมีเส้นสีม่วงเข้ม กว้าง 1.9-4.5 มม. ยาว 6.1-12.1 มม. มีขนเครา กลีบกลางรูปไข่กลับ สีขาวและมีเส้นสีม่วงเข้ม กว้าง 3.8-5.7 มม. ยาว 6.3-10.5 มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว 1.1-1.3 มม. ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมถึงรูปทรงขอบขนาน กว้าง 4-6 มม. ยาว 6-8 มม. เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง 0.9-1 มม. ยาว 1.4-1.5 มม.
นิเวศวิทยา
วาสุกรีอุ้มผาง เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นในที่ค่อนข้างร่มและชื้นใต้ต้นไม้ใหญ่ และตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 800-1,080 เมตร
เอกสารอ้างอิง: Nansai, S., Srisanga, P., Hodkinson, T. R. & Suwanphakdee, C. 2020. Viola umphangensis (Violaceae), a new species from Thailand. Nordic Journal of Botany 2020: e02668 doi: 10.1111/njb.02668.