เอื้องใบไผ่ภูวัว กล้วยไม้ป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะเด่น ออกดอกเดือนไหน? ถิ่นอาศัย
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"เอื้องใบไผ่ภูวัว"
- เอื้องใบไผ่ภูวัว คืออะไร?
- ชื่อวิทยาศาสตร์?
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์?
- ออกดอกช่วงเดือนไหน?
- การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย?
- การใช้ประโยชน์ เอื้องใบไผ่ภูวัว?
- สถานภาพของเอื้องใบไผ่ภูวัว?
เอื้องใบไผ่ภูวัว คืออะไร?
เอื้องใบไผ่ภูวัว คือพืชชนิดหนึ่งในพรรณกล้วยไม้ป่าของไทย ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocots) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย เอื้องใบไผ่ภูวัวเป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ชื่อวิทยาศาสตร์?
เอื้องใบไผ่ภูวัว ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Arundina graminifolia (D.Don) Hochr. subsp. caespitosa (Aver.) H.A.Pedersen & Schuit. เป็นพันธุ์พืชในสกุล Arundina ซึ่งอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) โดยพืชวงศ์นี้อยู่ในอันดับ Asparagales.
เอื้องใบไผ่ภูวัว; ภาพโดย BKF-Forest Herbarium.
ชื่อพรรณไม้ของกล้วยไม้ป่าชนิดนี้ มีชื่อไทยเป็นชื่อทางการว่า เอื้องใบไผ่ภูวัว (ueang bai phai phu wua) ซึ่งอ้างอิงตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557) และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Phu Wua Bamboo Orchid
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์?
เอื้องใบไผ่ภูวัว มีลักษณะเป็น กล้วยไม้ดิน มีเหง้าสั้น ๆ แตกกอเป็นกระจุกหนาแน่น ประมาณ 100 ต้นต่อกอ ลำต้น ยาว 25-60 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง 2-5(-6) มม. ยาว 10-18 ซม. ปลายแหลม แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอกเอื้องใบไผ่ภูวัว
ดอกช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ดอกย่อย 1-4 ดอก สีม่วงอ่อนถึงสีม่วงเข้ม สีดอกมีความผันแปรมาก ดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง รูปขอบขนานแกมรูปไข่แคบ กว้าง 5-7 มม. ยาว 1.6-2.2 ซม. ปลายมน กลีบดอก รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 0.6-0.8 ซม. ยาว 1.8-2.4 ซม. ปลายกว้างมนถึงกลม
กลีบปากรูปแตร เมื่อแผ่แบนเป็นรูปไข่ กว้าง 1.8-2.4 ซม. ยาว 2.2-2.8 ซม. กลางกลีบสีขาว มีร่องตื้น ๆ 7-9 ร่อง และมีต่อมสีเหลืองเล็ก ๆ เรียงในร่อง ปลายกลีบแยกเป็น 3 พู ขอบเป็นคลื่น พูข้างค่อนข้างตรงโอบ
เส้าเกสร รูปสามเหลี่ยม ปลายกลม กว้าง 6-8 มม. ยาว 7-9 มม. พูกลางรูปเกือบกลม กว้างและยาว 9-12 มม. ปลายเว้าตื้นหรือเป็น 2 พู เส้าเกสรสีขาว โคนมีกลุ่มของต่อม สีส้มแกมเหลือง อับเรณูสีขาว
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก มีสันตามยาว กว้าง 5-8 มม. ยาว 1.4-2.8 ซม.
ออกดอกช่วงเดือนไหน?
เอื้องใบไผ่ภูวัว ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายน-กรกฎาคม
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย?
เอื้องใบไผ่ภูวัว เป็นกล้วยไม้ป่าที่มีการกระจายพันธุ์ พบที่ เวียดนาม ไทย สำหรับในประเทศไทย เป็นพืชบนลานหินทรายหรือตามโขดหินริมน้ำ พบเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ และที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัด นครพนม ที่ระดับความสูง 50-500 ม.
เอื้องใบไผ่ภูวัว เป็นกล้วยไม้ป่าที่ชอบขึ้นตามลำธารหินทรายหรือที่ชื้นแฉะ ต้นค่อนข้างแคระเตี้ย มีขนาดเล็กกว่าเอื้องใบไผ่ หรือ หญ้าจิ้มฟันควาย ที่พบทั่วไป ดอกมีหลากหลายสีสวยงาม
การใช้ประโยชน์ เอื้องใบไผ่ภูวัว?
การใช้ประโยชน์จากเอื้องใบไผ่ภูวัว มีศักยภาพเป็นไม้ประดับ ตามลำต้นมักพบหน่อย่อย (bulbils) จำนวนมาก ซึ่งหน่อย่อยนี้เมื่อหลุดจากต้นแม่และกลิ้งไปตามลานหิน เมื่อมีสภาวะความชื้นเหมาะสมก็สามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้
บางครั้งชาวบ้านในพื้นที่แถบนั้น เวลาไปหาของป่าก็เก็บหน่อย่อยที่ร่วงหล่นของกล้วยไม้ชนิดนี้กลับบ้านด้วย สอบถามแล้วบอกว่าเอาไปปลูกเป็นไม้ประดับที่บ้าน นับเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ง่าย
สถานภาพของเอื้องใบไผ่ภูวัว?
สถานภาพ ไม่เคยมีการประเมินสถานภาพมาก่อน ปัจจัยคุกคาม จากกิจกรรมการท่องเที่ยวและการลักลอบเก็บจากธรรมชาติ สำหรับการประเมินสถานภาพตามเกณฑ์ IUCN (2001) อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)
ที่มา : สำนักงานหอพรรณไม้. (2558). พืชที่ถูกคุกคามในป่าภูวัว-ภูลังกา. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.