พุดหอมไทย ออกดอกเดือนไหน ไม้หายาก ชื่อวิทยาศาสตร์, พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย
เนื้อหาข้อมูล "พุดหอมไทย"
- พุดหอมไทย คืออะไร
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา
- ออกดอกช่วงเดือนไหน?
- สถานภาพและปัจจัยคุกคาม
- สถานภาพ IUCN (2001)
- ประโยชน์ของพุดหอมไทย
พุดหอมไทย คืออะไร
พุดหอมไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Rothmannia thailandica Tirveng. เป็นพรรณไม้ดอกหอมในวงศ์เข็ม Rubiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นพุดหอมไทย มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2.5 ม. ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีหูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ใบรูปใบหอกกลับ กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 9-12 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบสั้นมาก
พุดหอมไทย Rothmannia thailandica Tirveng.
ดอกพุดหอมไทย
ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2-3 ดอก ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอก อย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียว เป็นรูปถ้วย หลอดกลีบเลี้ยง ยาวประมาณ 2.5 มม. ติดบนฐานรองดอก ยาว 0.3-5.5 มม. ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยมแคบตื้น ๆ มีขนคล้ายไหมปกคลุม
กลีบดอกสีขาว รูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอก ยาว 1.7-2 ซม. กลีบดอกรูปขอบขนาน กว้าง 4-5.9 ซม. ยาว 11.5-17 ซม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปเส้นด้าย เกสรเพศเมีย ยาวประมาณ 2.5 ซม.
ผลรูปไข่ มีเมล็ดจำนวนมาก
การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา
พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ที่ระดับความสูงประมาณ 200 ม.
ออกดอกช่วงเดือนไหน?
ดอกพุดหอมไทย จะออกดอกและเป็นผล ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
สถานภาพและปัจจัยคุกคาม
พืชชนิดใหม่ (Tirvengadum, 1983), พืชถิ่นเดียวของไทย (ราชันย์, 2551; Forest Herbarium, 2005), ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม
สถานภาพ IUCN (2001)
ต้นพุดหอมไทย เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง Critically Endangered (CR) ซึ่งหมายถึง ชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในขณะนี้
ประโยชน์ของพุดหอมไทย
ต้นพุดหอมไทย เป็นพรรณไม้ดอกที่มีลักษณะดอกสวยงาม และดอกมีกลิ่นหอม มีศักยภาพเป็นไม้ประดับ ไม้ดอกหอม