ตำยาน (สบ,กระตุก,สะตือ) ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ลักษณะ, ออกดอกผลเดือนไหน.
เนื้อหาข้อมูล"ตำยาน"
- ตำยาน คืออะไร?
- ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่ออะไร?
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ออกดอก ช่วงเดือนไหน?
- การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
- การใช้ประโยชน์ สรรพคุณ?
ตำยาน คืออะไร?
ตำยาน คือพืชชนิดหนึ่งในกลุ่มพรรณไม้ป่ายืนต้นของไทย ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ (Eudicots) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีถิ่นอาศัยในประเทศไทย
ตำยานเป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ออกดอก ช่วงเดือนไหน?
ตำยาน ออกดอกเดือนธันวาคมกุมภาพันธ์ ผลแก่เดือนเมษายน-สิงหาคม
ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่ออะไร?
ตำยาน ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์) ว่า Altingia excelsa Noronha เป็นพันธุ์พืชในสกุล Altingia ซึ่งอยู่ในวงศ์สบ (Altingiaceae) โดยพืชวงศ์นี้จะอยู่ในอันดับ Saxifragales.
ตำยาน มีชื่อพ้อง (synonym) คือ Altingia siamensis Craib, Liquidambar excelsa (Noronha) Oken
ชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อไทยที่เป็นชื่อทางการ ว่า สบ ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ พ.ศ.2557 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและภาพประกอบ)
นอกจากชื่อ'สบ'นี้แล้ว ยังมีชื่ออื่น ที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น กระตุก (นครราชสีมา), ตำยาน ปรก ยาน (ชัยภูมิ), สะตือ (ภาคตะวันออก), สบ หอม (ภาคเหนือ), ສົບ ສະຝ້າຍ (ຊື່ລາວ) เป็นต้น และมีชื่อสามัญ (Common name) ภาษาอังกฤษ ว่า Rasamala, Indochinese Sweetgum, Sasamala.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ตำยาน มีลักษณะเป็น ไม้ต้น ผลัดใบช่วงสั้น สูง 20-40 ม. เปลือกสีน้ำตาลเทา แตกสะเก็ดบางตามแนวยาว เปลือกในและใบสดมีกลิ่นหอม กิ่งเกลี้ยง ตามยอดมีใบเกล็ดซ้อนหลายชั้นรูปหยดน้ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือ รูปรี กว้าง 2-5 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบแหลม-เรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบจักฟันเลื่อยตื้นและมีจุดเล็กสีดำ แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวเรียบเกลี้ยงและมันเงา ก้านใบยาว 2-3 ซม.
ดอกตำยาน
ดอกตำยาน ช่อดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ออกตามปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด สีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลม กว้าง 1 ซม. มีดอกย่อย ติดบนฐานเดี่ยวกัน 4-18 ดอก สีเขียว ก้านช่อดอกยาว 2-3 ซม.
ผลตำยาน
ผลตำยาน ผลติดเป็นกลุ่ม ทรงกรวย กว้างประมาณ 2 ซม. เนื้อแข็งคล้ายไม้สีน้ำตาล ผลย่อย 4-18 ผล มีปลายแหลม 2 แฉก
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
ตำยาน เป็นไม้ป่ายืนต้นที่มีการกระจายพันธุ์ ประเทศไทยพบในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีถิ่นอาศัย พบขึ้นในป่าดิบ ใกล้ลำธาร ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,000 ม. ในประเทศลาวพบทั่วไป มลฑลยูนนานและทิเบตของจีน รัฐอัสสัมของอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตราและชวา
การใช้ประโยชน์ สรรพคุณ?
ไม้ป่ากินได้ ใช้เป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อนทานเป็นผักสด, ใบและเปลือกลำต้นมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย ใช้ผสมเครื่องสำอาง, เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน
ข้อมูลเพิ่มเติม
ในปี 1790 "สบ หรือ กระตุก" ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกด้วยชื่อพฤกษศาสตร์ Altingia excelsa Noronha ในวารสาร Verhandelingen van het Bataviaasch Genootschap der Kunsten en Wetenschappen ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 โดยชื่อสกุล Altingia ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Jacobus Alting ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาวัฒนธรรมและประเพณีเอเชียตะวันออก
ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยทางด้านอนุกรมวิธานพืชมักใช้ศาสตร์ทางด้านชีวโมเลกุลมาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยยืนยันการจำแนกและระบุชนิด รวมถึงการได้มาซึ่งข้อมูลทางวิวัฒนาการ ในกรณีของ "สบ" ชื่อพฤกษศาสตร์ในปัจจุบันคือ Liquidambar excelsa (Noronha) Oken ซึ่งชื่อดังกล่าวเคยถูกใช้ครั้งแรกในปี 1841 และยกเลิกไป
จนกระทั่งได้ถูกใช้อีกครั้งในวารสาร Phytokeys ปีที่ 31 หน้า 21-61 ปี 2013 ในหัวข้อ A taxonomic synopsis of Altingiaceae with nine new combinations โดย Stefanie M. Ickert-Bond และ Jun Wen ได้ประยุกต์ศาสตร์ทางสัณฐานวิทยาและชีวโมเลกุลในการจัดจำแนกพืชในวงศ์สบ (Altingiaceae)
สกุล Liquidambar L. ในประเทศไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ตำยาน (L. siamensis (Craib) Ickert-Bond & J. Wen) พบทางภาคเหนือ ใบเรียวยาวกว่า โคนใบสอบเรียว
การใช้ประโยชน์: ใบอ่อนรับประทานเป็นผัก เนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน ชันที่เกิดจากการถูกเจาะทำลายเนื้อไม้มีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำหอมและเป็นสมุนไพร