เขืองสร้อย (ข้าวเย็นโคกขาว , เขืองโทน) ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax davidiana.
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax davidiana A.DC.
วงศ์ : Smilacaceae
ชื่อท้องถิ่น : ข้าวเย็นโคกขาว , เขืองโทน , ยาหัวข้อ(เลย)
ชื่อสกุล Smilax มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า smilax หรือ smilakos ซึ่งใช้เรียกไม้เลื้อยที่มีผิวหยาบของพืชสกุลนี้ บางชนิดมีหนาม
สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยหรือพาดตามต้นไม้อื่นตามทุ่งหญ้าหรือพื้นที่เปิดโล่งในป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าก่อ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา และบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,500 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เขืองสร้อย

ดอกเขืองสร้อย
พืชวงศ์นี้ ทั่วโลกพบเพียงสกุลเดียว มีรายงานการพบ 261 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 40 ชนิด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เขืองสร้อย ไม้เลื้อย ทอดยาว 1-2 เมตร ลำต้นกลม เป็นสัน 8-12 สัน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปรีกว้าง หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ช่วงใบอ่อนนั้น บริเวณโคนใบของผิวใบด้านล่างจะมีมือพันคล้ายหนวด 2 เส้น ยื่นยาวออกมา
ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบล่างสุดของกิ่งอ่อน ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อละ 10-20 ดอก ดอกสีค่อนข้างเขียว กลีบรวม6กลีบ เรียงเป็น2วงๆละ3กลีบ ดอกเพศผู้มีกลีบวงนอกรูปขอบขนาน กลีบวงในรูปแถบแกมรูปใบหอกกลับ เกสรเพศผู้6อัน ส่วนดอกเพศเมียมีกลีบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายกลีบแหลม มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 4-6 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ออกดอกช่วงเดือนไหน
เขืองสร้อย ออกดอกในราวเดือนธันวาคม – เดือนมีนาคม
การกระจายพันธุ์
การแพร่กระจายของเขืองสร้อย แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีน ญี่ปุ่น ไทย ลาว และเวียดนาม
ที่มาข้อมูลและภาพ : Natureman Thaimountain