ลำดวน (ลำดวนดง, หอมนวล) ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ออกดอกช่วงเดือนไหน.
เนื้อหาข้อมูลพันธุ์ไม้ 'ลำดวน'
- ลำดวน คืออะไร
- ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
- ประโยชน์และสรรพคุณ
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธานพืช (Plant Taxonomy)
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ออกดอกเดือนไหน
- นิเวศวิทยา ถิ่นอาศัย
- การกระจายพันธุ์
ลำดวน คืออะไร
ลำดวน คือพันธุ์ไม้ไทยชนิดหนึ่ง ที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติและกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
พันธุ์ไม้ไทยชนิดนี้ นอกจากมีชื่อไทยว่า 'ลำดวน' แล้วยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง (vernacular name) หรือ ชื่อท้องถิ่น (local name) ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก เช่น ลำดวนดง, หอมนวล เป็นต้น.
ประโยชน์และสรรพคุณ
การใช้ประโยชน์ของลำดวน เนื้อผลรสหวานอมเปรี้ยวทานได้, ดอกสดมีกลิ่นหอมเย็น นำมาบูชาพระ หรือให้กลิ่นหอมแก่ที่อยู่อาศัย หรือปรุงน้ำสรงพระ น้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ ดอกแห้งเป็นส่วนประกอบในพิกัดยาเกสรทั้ง 9 ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลมวิงเวียน, เนื้อไม้เหนียว ใช้ทำอุปกรณ์ทางการเกษตร-ประมง ของเล่นสำหรับเด็ก, เหมาะสมต่อการ ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือทางเดินข้างถนนในเขตเมือง
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ ลำดวน ภาษาอังกฤษ ว่า White Cheesewood.
ชื่อวิทยาศาสตร์
ลำดวน ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Sphaerocoryne lefevrei (Baill.) D.M.Johnson & N.A.Murray เป็นพืชดอกในสกุล Sphaerocoryne โดยถูกจัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae ซึ่งเป็นวงศ์พืชในอันดับ Magnoliales.
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Melodorum lefevrei Baill. (1871)
- Melodorum clavipes Hance (1877)
- Polyalthia siamensis Boerl. (1897)
- Popowia mesnyi Craib (1914)
- Sphaerocoryne siamensis (Boerl.) Scheff. ex Ridl. (1917)
- Sphaerocoryne clavipes (Hance) Craib (1922)
สำหรับชื่อ Melodorum fruticosum Lour. ที่เคยนิยมใช้กันมานานในประเทศไทย เป็นคนละชนิด
อนุกรมวิธานพืช (Plant Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Plantae
- ไฟลัม (Phylum) : Streptophyta
- ชั้น (Class) : Equisetopsida
- ชั้นย่อย (Subclass) : Magnoliidae
- อันดับ (Order) : Magnoliales
- วงศ์ (Family) : Annonaceae
- สกุล (Genus) : Sphaerocoryne
- ชนิด (Species) : Sphaerocoryne lefevrei
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำดวน มีลักษณะวิสัยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 5-15 ม. ไม่ผลัดใบ เปลือกเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นฉุน ตามส่วนต่าง ๆ เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน-แกมรูปรี กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 7-12 ซม. แผ่นใบด้านบนมันเงา ด้านล่างสีเขียวนวล เส้นแขนงใบมีข้างละ 10-14 เส้น เห็นไม่ชัด เส้นกลางใบด้านล่างนูนชัด สีเหลือง ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอกออกเดี่ยว ตามซอกใบ ห้อยลง ก้านดอกยาว 1.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียว กลีบดอกสีเหลืองครีม มี 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ เนื้อหนา รูปไข่กว้าง ยาว 1-1.5 ซม. ปลายแหลม กลีบดอกชั้นนอกบานแผ่กว้างและมีขนาดใหญ่กว่าชั้นในเล็กน้อย มีกลิ่นหอมแรงช่วงบ่าย-พลบค่ำ
ผลรูปกลม-รี ยาว 1-1.5 ซม. ติดเป็นกลุ่ม ถึง 28 ผล/กลุ่ม สุกสีดำ มี 1-2 เมล็ด
ออกดอกเดือนไหน
ดอกลำดวน ออกดอก เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลแก่เดือนเมษายน-กรกฎาคม
นิเวศวิทยา ถิ่นอาศัย
ถิ่นอาศัยของต้นลำดวน พบตามป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณ ที่ความสูงใกล้ระดับน้ำทะเล ไปจนถึง ประมาณ 500 เมตร.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของต้นลำดวน เป็นพืชถิ่นเดียวระดับภูมิภาค (Regional endemic) พบเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนแถบตอนกลาง และล่าง ประเทศไทยพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางด้านตะวันออก ประเทศลาว พบบริเวณตอนกลางและตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้