โรคปลาสวยงาม ที่เกิดจากพยาธิภายใน หนอนพยาธิ ที่พบในปลาสวยงาม วิธีรักษา.
โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน หนอนพยาธิ หมายถึงสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ดำรงชีวิตอย่างปรสิต หนอนพยาธิมีมากกว่า 20,000 ชนิด ประกอบด้วยไฟลัม Platyhelminthes, Acanthocephala และ Nematoda
ชนิดของหนอนพยาธิที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิตภายในตัวปลามีจำนวนมากมาย ซึ่งขอยก ตัวอย่าง พยาธิที่พบ บ่อยในปลาสวยงาม โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้ (นันทริกา ขันชื่อ, 2553)
1. พยาธิตัวแบน (Trematode)
ลักษณะเด่นของปรสิตกลุ่มนี้คือ ลำตัวมีรูปร่างแบน ลักษณะคล้ายใบไม้ จึงถูกเรียกว่าพยาธิตัวแบน พบทั้งหมดประมาณ 1,600 ชนิด ทั้งในน้ำจืดและใน น้ำเค็ม มีขนาดความยาวประมาณ 1 เซนติเมตรหรือยาวกว่านั้น มีวงจรชีวิตสั้นและมีเจ้าบ้านเพียง ชนิดเดียว พยาธิตัวแบนมีทั้งที่เป็นปรสิตภายนอกเกาะที่เหงือกและผิวหนัง และที่เป็นปรสิตภายในอยู่ ในตัวปลาจนเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนจะสร้างเกราะหุ้มตัวอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารหรือผนังช่องท้อง พยาธิส่วนใหญ่จะมีสองเพศในตัวเดียวกันจึงผสมพันธุ์ในตัวเองได้ และสามารถสืบพันธุ์โดยการงอก และเจริญเติบโตจากส่วนที่ถูกตัดออกได้
2. โรคพยาธิปลิงใส (Monogeneasis)
พยาธิปลิงใสเป็นปรสิตภายนอกของปลา ลำตัวใสมีขนาดประมาณ 1.5-5 มิลลิเมตร สามารถมองเห็นโดยผ่านกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 10 เท่า และบางชนิดสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลำตัวแบนปลายด้านหัวแยกเป็น 2 แฉก หรือ 4 แฉก มีลักษณะค่อนข้างกลม ส่วนท้ายมีอวัยวะช่วยในการยึดเกาะซึ่งเป็นขอหนามใช้ยึดเกาะกับ ลำตัวของปลาเพื่อกินเซลล์ผิวหนังและเนื้อเยื่อของปลาเป็นอาหาร มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศและมี ทั้งแบบออกลูกเป็นไข่และออกลูกเป็นตัววงจรชีวิตอยู่ในเจ้าบ้านเพียงชนิดเดียวตัวอย่างของปรสิตที่ เป็นพยาธิปลิงใส เช่น Dactylogyrus sp. และ Gyrodactyrus sp. เป็นต้น
อาการ ปลาที่เป็นโรคนี้จะว่ายน้ำผิดปกติ กระวนกระวาย กระพุ้งแก้มเปิด ตลอดเวลา ลอยตัวอยู่ตามผิวน้ำ และมักจะตายเนื่องจากขาดออกซิเจน วิธีการรักษาโดยใช้ฟอร์มาลิน 25 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง ถ้ายังไม่หายอาจทำซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง
3. พยาธิตัวตืด (Cestode)
มีลักษณะลำตัวเป็นปล้อง ส่วนหัวมีอวัยวะยึดเกาะที่มี ประสิทธิภาพมาก เป็นปรสิตที่พบเสมอในธรรมชาติ มีประมาณ 1,500 ชนิด โดยจะเป็นปรสิตทั้งหมด มีวงจรชีวิต 2 ระยะที่อยู่ในปลาคือระยะที่เป็นตัวเต็มวัยซึ่งมักจะพบในลำไส้ ไส้ติ่ง และบริเวณช่องว่าง ของลำตัว และระยะที่เป็นตัวอ่อนซึ่งพบในอวัยวะภายในหรือในกล้ามเนื้อ พยาธิตัวตืดสามารถวางไข่ ได้ครั้งละมาก ๆ โดยปล่อยออกมานอกตัวของเจ้าบ้านและในระยะที่มีการเจริญเติบโตจะเข้าไปอาศัย อยู่ในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น โคพีพอด กุ้ง เป็นต้น
4. พยาธิตัวกลม (Nematode)
พยาธิตัวกลมมีประมาณ 10,000 ชนิด มีทั้งที่ว่ายน้ำ เป็นอิสระและที่เป็นปรสิต มีขนาดตั้งแต่ 2-3 มิลลิเมตรไปจนถึงขนาด 1-2 เซนติเมตร มีผิวค่อนข้าง แข็ง ส่วนหัวและส่วนท้ายแหลมไม่มีอวัยวะสำหรับยึดเกาะ พยาธิตัวกลมสามารถแยกเพศได้อย่าง ชัดเจน มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทางเดินอาหาร ตัวเต็มวัยพบในลำไส้ และช่องว่างของลำตัวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวอ่อนพบในอวัยวะภายในทั่วไป ตลอดวงจรชีวิตจะอาศัยอยู่ ในสัตว์หลายชนิด สำหรับปลาจะพบทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ไม่ทำให้เกิดอันตรายกับปลามากนัก
5. พยาธิหัวหนาม (Acanthocephala)
พยาธิหัวหนามมีประมาณ 400 ชนิดที่เป็น ปรสิต มีรูปร่างกลม ขนาดความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรและมีบางชนิดที่ยาวกว่า ที่ส่วนหัวจะมี อวัยวะคล้ายงวงและมีหนามเล็ก ๆ จำนวนมากโดยจะใช้ยึดเกาะกับทางเดินอาหารของเจ้าบ้าน และดูดซึมสารอาหารผ่านทางผนังเซลล์ของพยาธิ จัดเป็นปรสิตในทางเดินอาหารของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และเป็นปรสิตที่พบได้เสมอในลำไส้ ทำให้เกิดแผลบริเวณลำไส้ หากพบในปลาขนาดใหญ่จะไม่ทำ อันตรายต่อปลามากนัก แต่ถ้าพบเป็นจำนวนมากในปลาขนาดเล็กจะทำให้เกิดการอุดตันในทางเดิน อาหาร ทำให้ลูกปลาตายได้
ที่มาข้อมูลและภาพ : บรรเจิด สอนสุภาพ. 2559. เอกสารประกอบการสอน รายวิชา การเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาสวยงาม. คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์