มวนลำไย แมงแคง ชื่อวิทยาศาสตร์ อะไร? แมลงศัตรูพืช ลำไย ลิ้นจี่ วิธีกำจัด ป้องกัน.
มวนลำไย คืออะไร
มวนลำไย จัดเป็นแมลงศัตรูพืชของลำไย ลิ้นจี่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Tessaratoma papillosa (Drury, 1770) จัดอยู่ในวงศ์ Tessaratomidae อันดับ Hemiptera มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Lychee Stink Bug มีชื่ออื่นว่า แมงแกง, แมลงแกงลำไย, แมลงแคง, แมงแคง เป็นต้น
มวนลำไย เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของลำไยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ช่อดอกและช่อผล ทำให้ยอดเหี่ยว ผลร่วง ผลผลิตลดลงและไม่ได้คุณภาพ ที่ข้างลำตัวส่วนปลายสุดของท้อง มีต่อมสกัดน้ำเหลวไว้ต่อสู้ศัตรู ของเหลวนี้มีกลิ่นเหม็นและเป็นพิษ มวนจะปล่อยน้ำพิษดังกล่าวออกมาเมื่อได้รับการรบกวน ถ้าของเหลวถูกผิวหนังจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนทันที ทำให้บริเวณนั้นมีสีน้ำตาลไหม้ บางรายที่แพ้มากผิวหนังจะพองและลอกหลุดไป ของเหลวนี้ทำให้ผิวเปลือกลำไยมีสีคล้ำซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการส่งออก
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรม
มวนลำไย มีลักษณะลำตัวสีน้ำตาลคล้ายใบไม้แห้ง ความยาวลำตัว 25-31 มม. ปากแบบเจาะดูด (piercing - sucking type) scutellum เป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายโล่ เมื่อตกใจสามารถปล่อยกรดกลิ่นเหม็นออกมาได้ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ช่อดอกลำไยและลิ้นจี่ ทำให้ใบอ่อนเหี่ยวแห้ง ช่อดอกและผลอ่อนร่วง
การเฝ้าระวังมวนลำไยระบาด
พบมวนลำไยตลอดทั้งปีในแหล่งปลูกลำไยและลิ้นจี่ การระบาดพบเป็นประจำทุกปีในช่วงลำไยและลิ้นจี่ออกดอกติดผล แต่จะพบปริมาณสูงสุด 2 ระยะ คือ
- ระยะแรก เป็นมวนที่อยู่ข้ามฤดู พบในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เป็นช่วงที่มวนมารวมกลุ่มจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่
- ระยะหลัง เป็นมวนรุ่นใหม่พบปริมาณสูงสุดในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม จำนวนไข่สูงสุดในเดือนมีนาคม ส่วนตัวอ่อนพบปริมาณสูงสุดในเดือนมีนาคม เมษายน และกรกฎาคม
พืชอาหารของมวนลำไย
ลำไย ลิ้นจี่ ตะคร้อ ทองกวาว และประคำดีควาย
ถิ่นอาศัย
แปลงเกษตรและป่าเบญจพรรณ
เขตแพร่กระจาย
ไทย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ปากีสถาน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ศัตรูธรรมชาติ
ในสภาพธรรมชาติ พบศัตรูธรรมชาติของมวนลำไยหลายชนิด เช่น แตนเบียนไข่ Anastatus sp.nr. japonicas ทำลายไข่ของมวนลำไย แตนเบียนไข่ Ooencyrtus phongi ทำลายไข่ของมวนลำไยและเชื้อรา Paecilomyces lilacinus ทำลายตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมวนลำไย นอกจากนั้นยังมีมดแดง เป็นตัวห้ำกัดกินตัวอ่อนมวนลำไย วัย 1 และวัย 2
วิธีกำจัดและการป้องกัน
1. โดยวิธีจับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ ทำลายเสีย ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มวนเริ่มจับกลุ่มและผสมพันธุ์อยู่ต้นใดต้นหนึ่งของลำไยและเป็นเวลาที่มวนลำไยว่องไวมาก ให้เขย่ากิ่งในเวลาเช้ามืดมวนจะทิ้งตัวตกลงมาให้เก็บรวบรวมทำลายเสีย ส่วนไข่มวนลำไยมีขนาดใหญ่อยู่เป็นกลุ่มมองเห็นได้ง่าย
2. ควรตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ใบหนาทึบจนเกินไปเพราะจะเป็นที่หลบซ่อนและพักอาศัยของตัวเต็มวัยเพื่ออยู่ข้ามฤดู
3. การใช้สารกำจัดแมลง ควรพ่นก่อนลิ้นจี่และลำไยออกดอก ในเดือนธันวาคม สารกำจัดแมลงที่ใช้ได้ผล ได้แก่ carbaryl (85% WP) อัตรา 45-60 กรัมหรือ lambdacyhalothrin (2.5% EC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
4. การฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่ดอกลำไยและลิ้นจี่บาน เพื่อลดอันตรายที่เกิดขึ้นกับผึ้ง และควรงดพ่นในช่วงที่มีการปล่อยแตนเบียนไข่ หรือเมื่อสำรวจพบว่า ไข่มวนลำไยถูกแตนเบียนทำลายในปริมาณสูง (ไข่มวนลำไยเปลี่ยนเป็นสีดำ)