แมวป่า, เสือกระต่าย ชื่อวิทยาศาสตร์, นิสัย ลักษณะ กินอะไร, ถิ่นที่อยู่อาศัย สถานภาพ
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"แมวป่า"
- แมวป่า คืออะไร
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- การสืบพันธุ์ของแมวป่า
- ถิ่นที่อยู่อาศัยของแมวป่า
- แมวป่า กินอะไร
- การแพร่กระจาย
- สถานภาพของแมวป่า
แมวป่า คืออะไร
แมวป่า คือสัตว์ป่าชนิดหนึ่งในกลุ่มสัตว์กินเนื้อ (carnivore) ที่ดำรงชีวิตอยู่อาศัยตามป่าธรรมชาติในประเทศไทย แมวป่าเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่น หายใจโดยใช้ปอด มีขนแบบเส้นขน (hair) ปกคลุมร่างกาย มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ตัวอ่อนเจริญอยู่ในมดลูก ตัวอ่อนได้รับอาหารผ่านทางรกและสายสะดือ เพศเมียมีต่อมน้ำนมสำหรับผลิตน้ำนม เพื่อเป็นอาหารให้ลูกอ่อนกินหลังจากคลอดออกมาแล้ว
แมวป่า, เสือกระต่าย; ภาพโดย Avinash Bhagat.
ชื่อวิทยาศาสตร์
แมวป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Felis chaus Schreber, 1777 เป็นพันธุ์สัตว์ในสกุล Felis ซึ่งอยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) โดยที่สัตว์ในวงศ์นี้จะอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) นอกจากชื่อ แมวป่า แล้ว ยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น เสือกระต่าย, เสือบอง เป็นต้น และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Jungle cat, Reed Cat, Swamp Cat, Jungle Lynx.
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Mammalia
- อันดับ (Order) : Carnivora
- วงศ์ (Family) : Felidae
- สกุล (Genus) : Felis
ลักษณะทั่วไป
แมวป่า มีลักษณะ รูปร่างเพรียว ขายาว ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน สีออกแดงหรือสีเทา ไม่มีลาย คอหอย และขามีลายแถบและจุดสีเข้ม ลักษณะเด่นคือ หูแหลมยาวเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายหูมีกระจุกขนสีดำตัดกับหลังใบหูที่เป็นสีแดง ชัดเจน ดูคล้ายกระต่าย
ขาด้านในมีแถบสีเข้มพาดขวาง หางสั้นมีลายสีเข้มสลับเป็นปล้องๆ ขนปลายหางมีสีดำ ลำตัวมีสีน้ำตาลเหลือง บริเวณด้านหลังมีสีน้ำตาลเข้ม ช่วงท้องสีขนจะดูอ่อนกว่าลำตัว
การสืบพันธุ์ของแมวป่า
การสืบพันธุ์ของแมวป่า เชื่อว่าแมวป่าติดสัดมากกว่า 1 ครั้งต่อ แมวป่าจะผสมพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หากที่อยู่อาศัยอุดมสมบูรณ์ มันอาจผสมพันธุ์ปีละ 2 ครั้ง หลังจากตั้งท้องนาน 63-68 วัน แม่แมวป่าจะออกลูก ลูกครอกหนึ่งมีประมาณ 2-3 ตัว
รังของแมวป่ามักอยู่ในกออ้อหรือพุ่มไม้ทึบ บางครั้งอาจใช้โพรงไม้หรือรูของสัตว์อื่นที่ทิ้งแล้วเป็นรังเลี้ยงลูกอ่อน ลูกแมวป่าแรกเกิดหนัก 130-140 กรัม มีริ้วสีดำ และจะค่อย ๆ จางลงเมื่ออายุมากขึ้น
เมื่ออายุได้ 3 เดือนก็จะหย่านม และเริ่มล่าเหยื่อหากินเองได้เมื่ออายุ 5-6 เดือน แมวป่าเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 11-18 เดือน แมวป่าในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 15 ปี
ถิ่นที่อยู่อาศัยของแมวป่า
โดยทั่วไปแมวป่าอาศัยอยู่ในป่าผลัดใบหรือป่าโปร่ง ปกติอาศัยในบริเวณใกล้แหล่งน้ำหรือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีลักษณะปกคลุมด้วยเรือนยอด รวมไปถึง ทะเลทรายหรือทุ่งหญ้าใกล้แหล่งน้ำ (โอเอซิส) หรือลำธาร (Nowell and Jackson, 1996)
แมวป่า กินอะไร
แมวป่าเป็นสัตว์กินเนื้อ อาหารแมวป่าที่เป็นอาหารหลักส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก จากการศึกษาสัตว์ที่เป็นเหยื่อของ แมวป่าใน Sariska reserve ของประเทศอินเดีย พบว่า แมวป่าล่าสัตว์ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ ประมาณ 3-5 ตัวต่อวัน (Mukherjee et al., 2004) และเหยื่อที่รองลงมาคือ นก โดยเฉพาะนกน้ำที่อาศัย อยู่รวมกันมากๆในพื้นที่ชุ่มน้ำ แมวป่าจะล่าตัวที่บาดเจ็บหรืออ่อนแอในฝูง
แมวป่ายังสามารถล่า กระต่าย กิ้งก่า งู สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แมลง และปลา อีกทั้งมีรายว่าแมวป่าสามารถล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อขนาดใหญ่กว่าได้ เช่น ลูกเนื้อทราย หรือ ลูกของ Chital หรือกินซากสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ด้วย (Sunquist and Sunquist, 2002)
การแพร่กระจาย
เขตแพร่กระจายของแมวป่า พบได้ตลอดทั่วทั้งเอเชีย ตั้งแต่ดินแดนสามเหลี่ยมของแม่น้ำโวก้าในรัสเซียลงมาถึง ปาเลสไตน์ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา จีน พม่า ลาว เวียดนาม ไทย ปัจจุบันทางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แมวป่าเป็นชนิดที่หายาก สำหรับในประเทศไทย อดีตเคยมีรายงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก (ประทีป, 2554)
สถานภาพของแมวป่า
แมวป่า มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535, CITES: Appendix II, สถานภาพการอนุรักษ์ Least Concern (IUCN Red list 2011) Critically Endangered (Thailand IUCN Red List 2005)
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.