ธาตุอาหารพืช มีทั้งหมดกี่ธาตุ' มีอะไรบ้าง? มีกี่ประเภท, เราต้องใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้หรือไม่.
เนื้อหาข้อมูล "ธาตุอาหารพืช"
พรรณไม้ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการจัดสวนในบ้านจะต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตแตกต่างกันไป ตั้งแต่ช้า ปานกลาง หรือเร็ว อย่างไรก็ตาม พืชมีความต้องการอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น อาหารที่พืชต้องการจะมาจากสองแหล่งคือ ในดินและจากอากาศ แต่เนื่องจากพืชไม่สามารถเคลื่อนที่ไปหาอาหารได้ ธรรมชาติจึงสร้างให้พืชมีระบบรากและสามารถเพิ่มความยาวเพื่อหาอาหารในดินได้ไกลจากลำต้น และระบบใบที่สร้างอาหารจากอากาศ
เราต้องใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้หรือไม่?
สำหรับพรรณไม้ที่ใช้จัดสวนในบ้านทั่วไป มักมีการปรับปรุงดินให้มีลักษณะที่ดีก่อนที่จะปลูกพรรณไม้ ซึ่งอาจจะใช้ดินผสมที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดหรือสั่งจากบริษัทที่ผลิตดินผสมก็ได้ ดินผสมเหล่านี้จะมีสูตรแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสม และมักจะมีธาตุอาหารที่พืชสามารถใช้ในการเจริญเติบโตผสมอยู่มากน้อยแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ธาตุอาหารเหล่านี้ก็จะมีปริมาณลดลงได้จากการดูดไปใช้ของพืช เมื่อแหล่งอาหารใต้ดินที่พืชดูดขึ้นไปใช้ทางรากไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ เช่น โตช้า ต้นแคระแกรน ไม่ออกดอกหรือติดผล ใบมีสีเหลือง เป็นต้น
ธาตุอาหารสำคัญที่พืชต้องการ; ภาพโดย Bek Diamond.
ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พรรณไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกในงานสวนจึงมีความจำเป็นเพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ ตามที่ออกแบบไว้ ผู้ดูแลงานสวนจึงควรทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธาตุอาหารพืช ชนิดและ คุณสมบัติของปุ๋ย และวิธีการให้ปุ๋ยที่หมาะสมด้วย
ประเภทธาตุอาหารพืช
ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 ธาตุอาหาร หมายความว่า ธาตุที่มีอยู่ในปุ๋ยและสามารถ เป็นอาหารแก่พืชได้ ธาตุอาหารที่พืชต้องการมีประมาณ 16 ธาตุ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
ธาตุอาหารพืชที่ได้รับจากน้ำและอากาศ
ธาตุอาหารพืชที่ได้รับจากน้ำและอากาศ มีจำนวน 3 ธาตุ คือคาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O)
ธาตุอาหารพืชที่ได้รับจากดิน
ธาตุอาหารพืชที่ได้รับจากดิน มีจำนวน 13 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) และคลอรีน (CI)
เมื่อจำแนกกลุ่มธาตุอาหารพืชตามปริมาณความต้องการและเป็นธาตุที่ได้จากดิน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ธาตุอาหารหลัก
ธาตุอาหารหลัก (Primary macronutrients) ประกอบด้วย ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ทั้งสามธาตุนี้พืชต้องการเป็นปริมาณมาก แต่มักจะมีอยู่ในดินไม่ค่อยพอกับ ความต้องการของพืชที่ปลูก มีผลให้พืชแสดงอาการผิดปกติได้หรืออาจมีมากแต่อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใส่ชดเชยในรูปของปุ๋ยอยู่เสมอ
2. ธาตุอาหารรอง
ธาตุอาหารรอง (Secondary macronutrients) ประกอบด้วย แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) พืชต้องการรองลงมาจากธาตุอาหารหลัก มีอยู่ในดินค่อนข้างมากเพียงพอกับ ความต้องการของพืช โดยทั่วไปเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงในดิน มักจะมีธาตุอาหารรองติดมาด้วยเสมอ ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีปัญหาการขาดหรือมีไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช
3. ธาตุอาหารเสริม
ธาตุอาหารเสริม (Micronutrients) ประกอบด้วย เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) โมลิบดีนัม (Mo) ทองแดงหรือคอปเปอร์ (Cu) สังกะสีหรือซิงค์ (Zn) และคลอรีน (CI) พืชต้องการเป็น ปริมาณน้อย มีอยู่ในดินเพียงพอกับความต้องการของพืช บางธาตุถ้ามีอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก เช่น เหล็กและแมงกานีส ก็จะกลายเป็นพิษแก่พืชได้