วิตามินบำรุงครรภ์ สำหรับคนท้อง กินดีไหม มีอะไรบ้าง, คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรกินหรือไม่?
เนื้อหาข้อมูล "วิตามินสำหรับคนท้อง"
- แม่ตั้งครรภ์ ควรกินวิตามินหรือไม่?
- วิตามินเอ A
- วิตามินดี D
- วิตามินอี E
- วิตามินบีหนึ่ง B1
- วิตามินบีสอง B2
- วิตามินบีหก B6
- กรดโฟลิค หรือโฟเลท
- วิตามินบีสิบสอง B12
- วิตามินซี
แม่ตั้งครรภ์ ควรกินวิตามินหรือไม่?
"วิตามิน" ช่วยให้การทำงานในร่างกายเป็นปกติ และมีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรกินอาหารที่มีปริมาณวิตามินให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมหรือ นำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ การขาดวิตามินต่างๆ จะส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน และส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์โดยตรง วิตามินที่สำคัญสำหรับบำรุงครรภ์ คุณแม่มีครรภ์ มีอะไรบ้าง?
วิตามินเอ A
วิตามินเอ จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ช่วยในการพัฒนาการของเซลล์เยื่อบุผิว ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วยบำรุงสุขภาพของตาผิวหนัง และเพิ่มภูมิต้านทานซึ่งเป็นกลไกในการเกิดโรคมะเร็ง
อาหารที่พบว่ามีวิตามินเอสูงได้แก่ ไข่แดง ตับ และในพืชผักที่มีสารแคโรทีน ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักตำลึง ผักคะน้า ผักหวาน โหระพา เป็นต้น
ส่วนผลไม้ที่มีวิตามินเอ ได้แก่ มะละกอสุก เป็นต้น คณะกรรมการ จัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ได้แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับวิตามินเอ เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกวันละ 200 ไมโครกรัม
ภาพโดย gpointstudio.
วิตามินดี D
วิตามินดี จําเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ในระยะตั้งครรภ์ เป็นระยะที่ต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากขึ้น จึงต้องการวิตามินมากขึ้นด้วย วิตามินดีมีมากในอาหารพวก ไข่แดง ตับ นมและผลิตภัณฑ์นม ปลาทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถ สังเคราะห์วิตามินดีได้ เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดจากดวงอาทิตย์
ในภาวะตั้งครรภ์จะมี 25-hydroxycholecalciferol จากมารดาผ่านรกไปสู่ทารก ได้ในปริมาณน้อย ซึ่งไม่มีผลต่อภาวะวิตามินดีของมารดาแต่อย่างใด ดังนั้นในสตรีที่ตั้งครรภ์ที่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ ความต้องการวิตามินดีเสริมจากอาหารในขณะที่ตั้งครรภ์ จึงไม่มีความแตกต่างจากในขณะที่ไม่ตั้งครรภ์
ดังนั้น ปริมาณอ้างอิงวิตามินดีที่ควรได้รับประจำวันสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ทุกอายุ คือ 5 ไมโครกรัม (200 หน่วยสากล) ต่อวัน และการบริโภควิตามินดีเสริม ในปริมาณที่สูงกว่านี้ คือ 10 ไมโครกรัม (400 หน่วยสากล) ต่อวัน โดยได้รับในรูปยาเม็ดก็ยังอยู่ในปริมาณที่ปลอดภัยและยอมรับได้ (คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน สําหรับคนไทย พ.ศ. 2546)
วิตามินอี E
วิตามินอี หรือแอลฟาโทโคเฟอรอล ทำหน้าที่เป็นแอนติออกซิแดนท์ ต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่จะเกิดขึ้นกับสารต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกาย เช่น บนผนังเซลล์เพื่อไม่ให้ถูกทําลาย วิตามินอียังป้องกันกรดไขมันอิ่มตัวและวิตามินเอไม่ให้แตกตัวและรวมกับสารอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
นอกจากนี้ วิตามินอี ยังมีความสำคัญต่อการผลิตพลังงานในร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทที่เกี่ยวข้องทํางานได้ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย เพิ่มความทนทาน และช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกขึ้น
คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรบริโภคอาหารที่มีวิตามินอี เพราะเป็นสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
อาหารที่มีวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืชต่างๆ เช่น น้ำมันที่สกัดจากรำข้าว เมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน อัลมอนต์ ถั่วเหลือง และจมูกข้าวสาลี ซึ่งนับเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินอี
วิตามินบีหนึ่ง B1
วิตามินบีหนึ่ง จำเป็นต่อการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อผลิตพลังงาน โดยวิตามินบีหนึ่ง ทําหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายคาร์โบไฮเดรต หรือน้ำตาลให้พลังงาน คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการวิตามินบีหนึ่งมากตามไปด้วย
กลุ่มอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่ง ได้แก่ เนื้อหมู จมูกข้าว ข้าวซ้อมมือ หรือเมล็ดธัญพืชที่ไม่ได้ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง
วิตามินบีสอง B2
วิตามินบีสอง ทําหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายคาร์โบไฮเดรต เหมือนกับวิตามินบีหนึ่ง และจำเป็นสำหรับการสร้างโปรตีนในร่างกาย บำรุงสุขภาพของผิวหนัง ลิ้น ริมฝีปากและดวงตา ถ้าขาดจะมีอาการเป็นแผลที่มุมปากทั้งสองข้าง เรียกว่า “ปากนกกระจอก” รวมทั้งความผิดปกติของผิวหนัง
อาหารที่พบว่ามีวิตามินบีสอง มาก เช่น ตับ และ ผักใบเขียว เป็นต้น คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ได้แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับวิตามินบีสองเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกวันละ 0.3 มิลลิกรัม
วิตามินบีหก B6
วิตามินบีหก มีบทบาทต่อกระบวนการสร้างกรดอะมิโนในร่างกาย ทําหน้าที เป็นโคเอนไซม์ช่วยในการเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโตเฟนให้เป็นไนอะซิน ซึ่งเป็นวิตามินบีที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้งยังช่วยในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินและฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตอีกด้วย
อาหารที่มีวิตามินบีหกมาก เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เนย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น คณะกรรมการจัดหาข้อกําหนด สารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ได้แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับวิตามินบีหกเพิ่มขึ้นจาก ช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกวันละ 0.6 มิลลิกรัม
กรดโฟลิค หรือโฟเลท
กรดโฟลิค หรือโฟเลท เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะมีบทบาทสําคัญต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาทของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ และยังมีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาเม็ดเลือดแดง
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการสังเคราะห์สารพันธุกรรม คือ ดีเอนเอ (DNA) จำเป็นสำหรับการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ จึงมีความต้องการกรดโฟลิคเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดและ เนื้อเยื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะมีการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างรวดเร็วทั้งร่างกายและสมอง
อาหารที่มีโฟลิคมาก ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้สด ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดดอกทานตะวัน และจมูกข้าว เป็นต้น คณะกรรมการจัดหาข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ได้แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลทเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกวันละ 200 ไมโครกรัม
วิตามินบีสิบสอง B12
วิตามินบีสิบสอง มีความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาเม็ดเลือดแดงเช่นเดียวกับ เหล็กและกรดโฟลิค คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับวิตามินบีสิบสองเพิ่มขึ้น อาหารที่มีวิตามินบีสิบสองมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม และโยเกิร์ต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งได้จากการหมักของแบคทีเรียกลุ่มที่สร้างกรดแล็กติก ใระหว่างขบวนการหมักจะมีการสร้างวิตามินบีสิบสองขึ้นพร้อมกันด้วย
คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ได้แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ วิตามินบีสิบสอง เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกวันละ 0.2 ไมโครกรัม
วิตามินซี
วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก บำรุงผนังเส้นเลือด เพราะวิตามินซีจำเป็นต่อการสร้างคลอลาเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ช่วยให้เซลล์ยึดติดกัน และยังช่วยในการสร้างกระดูกและฟันสำหรับทารกในครรภ์
การขาดวิตามินซี เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถเก็บแคลเซียมและฟอสฟอรัสไว้ใช้ได้ ในคุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับวิตามินซีในพลาสมาลดลง เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการวิตามินซีของทารก ทำให้มีการดึงวิตามินซีจากมารดาไปสู่ทารก
โดยภาวการณ์ขาดวิตามินซีในคุณแม่ตั้งครรภ์ มักพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีฐานะไม่ดี ภาวการณ์ขาดวิตามินซีในหญิง ตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะคลอด การคลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษได้
มีข้อมูลรายงานว่าวิตามินซีปริมาณ 7 มิลลิกรัมจะสามารถป้องกันการเกิดโรคลักปิดลักเปิดได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะได้รับวิตามินซีเพิ่มจากช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ 10 มิลลิกรัมต่อวัน (คณะกรรมการ จัดทําข้อกําหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2546)
อาหารที่มีวิตามินซีมาก ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม มะเขือเทศ ผลไม้ต่าง ๆ และผักสด เป็นต้น อาหารที่มีวิตามินซีน้อย ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ น้ำนม การหุงต้มและการได้รับแสง ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามิน ดังนั้นเวลาปรุงอาหารจึงต้องระมัดระวัง ไม่ต้มผักโดยใช้ความร้อนนานเกินไป เพราะจะทำให้วิตามินซีในผักถูกทำลาย การเก็บอาหารไว้เป็นเวลานานก็มีผลทำให้มีการสูญเสียวิตามินซี ได้เช่นกัน
ที่มา : สำนักงานจัดการศึกษาทั่วไปและศิลปวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.