กะท่าง คืออะไร? กินอะไร, ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ, ลักษณะ, ที่อยู่อาศัย, สถานภาพ.
เนื้อหาข้อมูล "กะท่าง"
- กะท่าง คืออะไร
- ชื่อวิทยาศาสตร์ กะท่าง
- ลักษณะทั่วไป
- การสืบพันธุ์
- ถิ่นที่อยู่อาศัย
- กะท่าง กินอะไร
- การแพร่กระจาย
- สถานที่พบครั้งแรก
- สถานภาพ
- ปัจจัยคุกคาม
กะท่าง คืออะไร
กะท่าง เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่จัดอยู่ในจำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีกว่า จิ้งจกน้ำ, จักกิ้มน้ำ, จักก่าน้ำ และมีชื่อสามัญ (common name) ภาษาอังกฤษ ว่า Crocodile Newt, Himalayan Newt, Crocodile Salamander, Red Knobby Newt, Orange-warted Salamander, Inthanon Salamander, Himalayan Crocodile Newt.
ชื่อวิทยาศาสตร์ กะท่าง
กะท่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Tylototriton verrucosus Anderson, 1871 อยู่ในสกุล Tylototriton วงศ์ Salamandridae
กะท่าง Tylototriton verrucosus; ภาพโดย John P Clare.
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ซับไฟลัม (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Amphibia
- ลำดับ (Order) : Caudata (Urodela)
- วงศ์ (Family) : Salamandridae
- วงศ์ย่อย (Subfamily) : Pleurodelinae
- สกุล (Genus) : Tylototriton
ลักษณะทั่วไป
กะท่าง มีลักษณะ ลําตัวคล้ายจิ้งจกแต่ไม่มีเกล็ด ความยาวจากหัวถึงก้น 70 มิลลิเมตร ความยาวหาง 60 มิลลิเมตร มีขา 2 คู่ ไม่มีเล็บ ผิวหนังนุ่มเป็นปุ่มละเอียดและชุ่มชื้น หัวคล้ายคางคก มีต่อมพิษเป็นตุ่มและเป็นสันยาว ตาม วงหน้าเป็นสันนูน บนหลังมีสันนูนตามแนวสันหลัง 1 เส้น ถัดมาด้านข้างเป็นตุ่มกลมเรียงเป็นแถว หางแบนด้านข้าง
กะท่างตัวไม่เต็มวัย จะอาศัยอยู่ในน้ำ หายใจโดยใช้เหงือกลักษณะเป็นเส้นๆ ยื่นออกมาบริเวณโคน ขากรรไกร เมื่อเต็มวัยเหงือกนี้จะลดรูปจนหายไป เปลี่ยนมาใช้ผิวหนังและปอดในการหายใจ มีการพัฒนาต่อม พิษบนหัวและแนวบนหลัง มีความแตกต่างของสีตั้งแต่ยังไม่เต็มวัย 2 รูปแบบ แบบหนึ่งมีสีออกส้ม อีกแบบหนึ่งสีออกดำคล้ำ และพบตัวเต็มวัย 2 รูปแบบ แบบแรกลำตัวสีดำ มีต่อมพิษและหางสีส้ม อีกแบบหนึ่งลำตัวสีดำ ต่อมพิษและหางสีดำคล้ำ
การสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ของกะท่าง ปฏิสนธิภายใน ผสมพันธุ์ตามแอ่งน้ำในลำธารบนภูเขา วางไข่เป็นเม็ดกลมคล้ายเม็ดสาคูติดกับ พืชน้ำ ในช่วงเดือนกันยายน
ถิ่นที่อยู่อาศัย
กะท่าง มีถิ่นที่อยู่อาศัย พบอาศัยอยู่ตามใต้ก้อนหิน ท่อนไม้ หรือกองใบไม้ และในแหล่งน้ำ ที่ระดับความสูง 1,000 – 2,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในบริเวณที่มีความชื้นสูง
กะท่าง กินอะไร
กะท่าง กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของกะท่าง พบในประเทศอินเดีย เนปาล จีน ไทย และเวียดนาม สำหรับการแพร่กระจายในไทย พบกะท่างที่ เชียงใหม่ (ดอยเชียงดาว, ดอยอินทนนท์, ดอยสุเทพ-ปุย, ดอยอ่างขาง); แม่ฮ่องสอน (อช.น้ำตก แม่สุรินทร์); น่าน (ดอยภูคา), เลย (ขส.ภูหลวง)
สถานที่พบครั้งแรก
กะท่าง พบครั้งแรกที่ มณฑล Nantin มณฑล Momien และ หุบเขา Hotha ทางด้านตะวันตกของมณฑลยูนนาน ประเทศ จีน และยังมี Neotype จาก Gongwa ที่ความสูง 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในเมือง Longchuan มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
สถานภาพ
กะท่าง มีสถานภาพทางกฎหมาย จัดให้กะท่างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่า คุ้มครอง พ.ศ.2546 IUCN (2011)
จัดสถานภาพทางการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น สัตว์ที่มีความ เสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (LC - Least Concern)
ปัจจัยคุกคาม
กะท่างมีปัจจัยคุกคามคือ บางประเทศนิยมค้าขายเป็นสัตว์เลี้ยง และใช้เป็นส่วนประกอบยาจีน
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.