กระดองูช่อยาว ลักษณะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnostachyum leptostachyum.
ชื่อวิทยาศาสตร์
กระดองูช่อยาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnostachyum leptostachyum Nees
วงศ์ Acanthaceae
ชื่ออื่น: -
นิเวศวิทยา กระดองูช่อยาว
ถิ่นอาศัยของต้นกระดองูช่อยาว พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตามที่เปิดโล่งหรือตามซอกหินปูนป่าดิบแล้ง และ ป่าดิบเขาระดับต่ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 500-900 ม.
ออกดอกเดือนไหน
ดอกกระดองูช่อยาว ออกดอกเดือนกรกฎาคม-กันยายน เป็นผล เดือนกันยายน-กุมภาพันธ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นกระดองูช่อยาว มีลักษณะวิสัยเป็นไม้ล้มลุก สูง 20-50 ซม. ลำต้นเดี่ยวหรือแตกกิ่งสั้น ๆ กิ่งเป็นรูปทรงกระบอก ข้อบวมพอง กิ่งมีขนสั้นนุ่ม หนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-4 ซม. ยาว 5-13 ซม. ปลายแหลม หรือมน โคนสอบเป็นครีบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ 6-12 เส้น โคนใบแผ่เป็นครีบสอบแคบที่ก้านใบ ก้านใบยาวได้ถึง 4 ซม. มีขนประปราย
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ใบประดับ 2 ใบ มี 3-8 ดอก ใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย ไม่มีก้านดอก กลีบเกลี้ยงโคนเชื่อมติดกันตื้น ๆ ปลายแยก 4-5 แฉก รูปแถบ ปลายเรียวแหลม มีขนสั้น
กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายหลอดแยกเป็นรูปปากเปิด แยกเป็น 2 ซีก ซีกบนส่วนปลายแยกเป็น แฉกตื้นๆ 2 แฉก ซีกล่างมีแถบสีขาวอมม่วง ส่วนปลายแยกเป็น 3 แฉก แฉกกลางรูปสามเหลี่ยม สีม่วง มีขนาดยาวกว่าแฉกคู่ข้าง เกลี้ยง ด้านนอกสีขาวมีขนสั้นนุ่มประปราย
เกสรเพศผู้ 2 เกสร ไม่โผล่พ้น กลีบดอก ก้านชูอับเรณูมีขนประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว มีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก แบนด้านข้าง เมล็ดสีน้ำตาลดำ ขนาดเล็ก
การกระจายพันธุ์
การแพร่กระจายของกระดองูช่อยาว ในต่างประเทศพบที่เมียนมา
ที่มาข้อมูลและภาพ : หนังสือพรรณไม้ในพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี