ต้อยติ่งไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Ruellia kerrii ออกดอกช่วงเดือนไหน ลักษณะ ถิ่นอาศัย.
ชื่อวิทยาศาสตร์
ต้อยติ่งไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Ruellia kerrii Craib
วงศ์ Acanthaceae
ชื่อพ้อง: Ruellia siamensis J. B. Imlay
นิเวศวิทยา ต้อยติ่งไทย
ถิ่นอาศัยของต้นต้อยติ่งไทย พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคกลาง ตามป่าดิบแล้ง หรือป่าผสมผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 150 - 1,000ม.
ออกดอกเดือนไหน
ดอกต้อยติ่งไทย ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคม กุมภาพันธ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นต้อยติ่งไทย มีลักษณะวิสัยเป็นไม้ล้มลุก ปีเดียวหรือหลายปี สูง 20-50 ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยมถึงกลม มีขนสั้นนุ่ม ข้อโป่งพอง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 1.5-3.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนและด้านล่าง มี ขนยาวสีขาวประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบยาว 1-2 ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ มีขนสั้น นุ่มหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้นหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มี 1-3 ดอก ไร้ก้านช่อดอก ใบประดับย่อยขนาดใหญ่คล้ายใบ รูปใบหอกหรือรูปซ้อน กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. มี ขนยาวสีขาวประปราย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึก 5 แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน ด้านนอกมีขนยาวสีขาวประปราย กลีบดอกสีม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอด กลีบดอกยาวกว่าแฉกกลีบดอก ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง
เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 เกสร เป็นหมัน 2 เกสร ติดที่บริเวณกลางหลอดกลีบดอก ยาวไม่พ้นหลอดดอก เกลี้ยง ก้านชูยอด เกสรเพศเมีย เรียว มีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียเป็น 2 แฉกสั้น ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงไข่กลับหรือรูปทรงรี ผลแบบผลแห้งแตก 2 ซีก รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ เมล็ดมีได้ถึง 16 เมล็ด รูปทรงกลมค่อนข้างแบนขนาดเล็ก ผิวเรียบ ก้านเมล็ดเป็นตะขอรูปคล้ายเข็มปลายแหลม
ที่มาข้อมูลและภาพ : หนังสือพรรณไม้ในพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี